กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--ไมนด์ ทัช
โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาจักษุวิทยา ร่วมกับ บริษัท บอช แอนด์ ลอมบ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซูปร้า เทค จำกัด เปิดตัวศูนย์รักษาสายตา “รามา เอ็กไซเมอร์ เลเซอร์” ด้วยระบบเลเซอร์ Zyoptix 100 เทคโนโลยีล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา โดยปรับปรุงพื้นที่ ศูนย์เลสิคเดิมด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อใช้รองรับคนไข้ผ่าตัดเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดเป็นศูนย์เพื่อการเรียนรู้และอบรมวิทยาการทางด้านนี้ สำหรับบุคลากรด้านจักษุแพทย์ทั่วประเทศ
รองศาสตราจารย์นายแพทย์อัทยา อยู่สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ ศูนย์ “รามา เอ็กไซเมอร์ เลเซอร์” (Rama Excimer Laser) ได้เปิดให้บริการแล้ว ด้วยงบลงทุนทั้งสิ้นกว่า 35 ล้านบาท โดยมีบริษัท ซูปร้า เทค จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุนและรับผิดชอบในการปรับปรุงพื้นที่และอุปกรณ์ของศูนย์เลสิคเดิมที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2535 นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้นำเทคโนโลยีใหม่ ที่มีความก้าวหน้ามาก ด้วยระบบ Zyoptix รุ่น Z100 พร้อมด้วย Zy ID Iris recognition technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัท บอช แอนด์ ลอมบ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การผ่าตัดตาที่เก่าแก่ในสหรัฐอเมริกา มาใช้ในการรักษาผู้มีปัญหาผิดปรกติทางสายตา ซึ่งนับเป็นศูนย์รักษาสายตาด้วยเอ็กไซเมอร์ เลเซอร์ เป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลภาครัฐในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2535
การนำเครื่องเลเซอร์ระบบ Zyoptix 100 มาใช้ในครั้งนี้ เพื่อให้ทีมงานจักษุแพทย์ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย และยังเพิ่มศักยภาพด้านบริการทางการแพทย์ในระดับแนวหน้าให้แก่ประชาชนนอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนและงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งศูนย์จะเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในแวดวงจักษุแพทย์ได้เข้าเยี่ยมชมเพื่อการอบรมและการศึกษางานด้วย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อัทยา อยู่สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยากล่าวถึง ระบบ Zyoptix 100 ว่าเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่วิธีการผ่าตัดจะไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยการทำเลสิคทั่วไปมากนัก แต่ด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยี ในเครื่องจะทำให้การรักษาได้ผลกว่า เนื่องจากเครื่องจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบสภาวะการกระจายของแสงในระบบการมองเห็นของผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัดซึ่งผลการตรวจทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาด้วยโปรแกรมควบคุมการยิงลำแสงเลเซอร์ในลักษณะเป็นชุดเฉพาะตัวที่สามารถปรับลำแสงให้มีขนาดเล็กและใหญ่ รวมทั้งการคำนวณ เพื่อสร้างรูปแบบการรักษาที่เฉพาะของดวงตาแต่ละดวง เพื่อผลการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย
ทั้งนี้เทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังรวมถึงการที่เครื่องมือ Iris Recognition สามารถจำแนกและจดจำลักษณะม่านตา ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของดวงตาแต่ละดวงของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกันเลย มาร่วมใช้ในระบบการรักษานี้ด้วย จึงมั่นใจได้ถึงความเที่ยงตรงของข้อมูล อีกทั้งยังสามารถกำหนดตำแหน่งของม่านตาจริงไว้ก่อนทำเลเซอร์แล้วส่งข้อมูลไปยังเครื่องเลเซอร์ซึ่งจะหมุนตามการหมุนของตาเวลานอนลง ทำให้ยิงแสงเลเซอร์ได้แม่นยำ ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการจริง
จากสถิติการรักษายังพบว่าระบบ Zyoptix ช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นได้ดีขึ้น โดย 70% ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยระบบนี้ จะสามารถลดปัญหาการมองเห็นในเวลากลางคืนขณะขับรถได้ดีกว่าการรักษาด้วยระบบเลเซอร์ทั่วไป รวมไปถึงความสามารถในการตรวจพบ แม้แต่ความผิดพลาดในการมองเห็นเพียงเล็กน้อยและยังสามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้อีกด้วย
“การรักษาด้วยแสง Excimer Laser ของระบบ Zyoptix ซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์จะใช้เวลาเพียง 3-5 นาที เท่านั้นอีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และเห็นผลการรักษาได้อย่างรวดเร็วในวันต่อมา ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่นำสมัยนี้มีความปลอดภัยสูงสุด และช่วยให้การบำบัดรักษาสมบูรณ์ ส่วนแพทย์จะสามารถทำงานคล่องตัวมากขึ้น” นายแพทย์อัทยากล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตา ปีละกว่า 4,000 คน และผ่าตัดได้ปีละกว่า 400 คน โดยปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ 5 คน ซึ่งคาดว่า การเปิดตัวศูนย์ “รามา เอ็กไซเมอร์ เลเซอร์” ครั้งนี้จะสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีผ่าตัดเพิ่มขึ้นได้เป็นปีละกว่า 1,000 คน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท ไมนด์ ทัช จำกัด ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
โทร 02 6892334-5 หรือ 01 8164598--จบ--