พม. รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ชี้สังคมไทยน่าห่วง ติดอันดับ ๒ “เชื่อว่าสามีตีภรรยายอมรับได้”

ข่าวทั่วไป Wednesday November 14, 2012 08:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ เชิญชวนหน่วยงาน และประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ร่วมแสดงพลัง "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว" เพื่อยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า จากข้อมูล ในเอกสารเรื่อง “๒๐๑๑ — ๒๐๑๒ Progress of The World’s Women : in Pursuit of Justice “ ของ UN Women พบว่า ประเด็นความรุนแรงทางร่างกายต่อคู่ของตนเอง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (๒๕๔๔ — ๒๕๕๓) ประเทศไทย เป็นลำดับที่ ๓๖ (ร้อยละ๒๓) จาก ๗๕ ประเทศ ที่มีการกระทำความรุนแรงทางร่างกายมากที่สุด โดยในประเด็นความรุนแรงทางเพศต่อคู่ของตน พบว่า ประเทศไทยเป็นลำดับที่ ๗ (ร้อยละ ๓๐) จาก ๗๑ ประเทศ ที่มีการกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด และที่น่าห่วงใย คือ ความเชื่อที่ว่าสามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ พบว่า ประเทศไทยเป็นอันดับที่ ๒ (ร้อยละ ๖๓) จาก ๔๙ ประเทศ ที่มีความเชื่อดังกล่าวมากที่สุด นายสมชาย กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชน ได้ระดมความร่วมมือในการจัดกิจกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ และเข้าถึงสิทธิของตนเองในการใช้กฎหมาย อันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี อีกทั้งให้สังคมทุกภาคส่วนได้ร่วมมือเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรง ในครอบครัว โดยใช้ริบบิ้นสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่และจัดกิจกรรมทุกปีโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและบุคคลในครอบครัวมีรากเหง้าของปัญหาจากทัศนคติ และความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า “ภรรยาเป็นสมบัติของสามี” หรือ “ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่” ทำให้เกิดการควบคุมและ ใช้อำนาจ ต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอีกประเด็นที่น่าห่วงใย คือ การที่คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้พบเห็นความรุนแรงจากสื่ออยู่ตลอดเวลา ทั้งจากละคร ภาพยนตร์ และเกมส์ ที่มีการกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกาย การใช้คำพูดด่าทอ หยาบคาย จนทำให้คนในสังคมเกิดความชินชา และคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่ใครก็ทำได้และยอมรับได้ หรือคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของคนในครอบครัว คนอื่นไม่เกี่ยว ซึ่งความจริงประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ อันเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง “เพื่อให้สังคมทุกภาคส่วนได้ร่วมมือเพื่อยุติความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ โดยการเยี่ยมสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อขอ ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวทางการยุติความรุนแรงในสังคมไทย โดยใช้ริบบิ้นสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์การยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว แจ้งเหตุหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทร ๑๓๐๐ ทั่วประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” นายสมชาย กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ