โอกาสแห่งรอยยิ้มใหม่ของเด็กไทย เพื่อทุกชีวิตที่มีคุณค่า

ข่าวทั่วไป Wednesday September 29, 2004 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์
ภาพความพิการบนใบหน้าของเด็กน้อยแววตาแสนเศร้าทำให้สะท้อนใจทุกครั้งที่หันไปสบสายตา และนั่นเป็นประกายความคิดแรกที่ก่อกำเนิดโครงการ “ยิ้มสยาม” โครงการที่ทำให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มีรอยยิ้มที่ สดใส ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดที่ทำให้พวกเขาเกิดมา มีความบกพร่องพิการบนใบหน้า และส่งผลให้ชีวิตบางส่วนขาดหายไปจากสังคมก็ตาม วันนี้ โครงการยิ้มสยาม ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตเหล่านั้นมีรอยยิ้มที่สดใส เป็นรอยยิ้มใหม่ที่กว้างขึ้น พร้อมกับรอยยิ้มของพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนๆ ที่ยิ้มรับกับชีวิตใหม่ของพวกเขาอีกครั้ง …
ทุกปีจะมีเด็กเกิดประมาณ 1,200,000 แสนคน และทุกๆ 500 คนจะพบเด็ก 1 คนที่เกิดมาพร้อมกับความพิการบนใบหน้า ซึ่งเท่ากับเด็กประมาณ 2,000-2,500 คน ต่อปี ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งบนใบหน้า ปัญหาคือเด็กที่เกิดมาพร้อมกับปากแหว่งเพดานโหว่ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ยากจนไม่มีโอกาสเข้ารับการผ่าตัด ทั้งที่สามารถผ่าตัดได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน ซึ่งจะได้ผลดีกว่าผ่าตัดตอนโต และใช้เวลาผ่าตัดเพียง 45 นาที เท่านั้น เรื่องของปากแหว่งเพดานโหว่ยังมาจากพันธุกรรมเป็นหลัก การดำเนินโครงการยิ้มสยามจึงยังต้องทำต่อไป นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์ ผู้ประสานงานโครงการยิ้มสยาม ในนามของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประสบการณ์ของการสร้างโลกใหม่ให้ผู้ด้อยโอกาส ได้มีรอยยิ้มที่สดใส ว่า “คนไทยเป็นประเทศที่ยอมรับความพิการได้มากที่สุดในโลก ส่วนใหญ่จะมองเป็นเรื่องของเวรกรรม และไม่อยากฝืนธรรมชาติ ที่สำคัญกลัวผ่าตัดแล้วมีอันตราย ไม่ใช่เพียงแค่เด็กๆ ผู้ใหญ่บางคนก็ต้องทนอยู่กับความเศร้ามาตลอดชีวิต เช่น คุณลุงคนหนึ่ง ลูกๆ เขาไม่อยากให้ผ่าตัด เพราะพ่ออายุมากแล้วกลัวเป็นอันตราย แต่ตัวคุณลุงอยากจะผ่ามานานแล้ว หลังจากเราผ่าตัดให้ คุณลุงดีใจมากที่ได้เติมความสุขในชีวิตที่ขาดหายไป ส่วนลูกๆ ก็ดีใจไปด้วย”
แอมเวย์ ประเทศไทย สืบสานพันธะสัญญาและยึดมั่นในการมีส่วนร่วมจรรโลงสังคมไทยสนับสนุน โครงการยิ้มสยาม (Operation Smile) อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 ภายใต้ความร่วมมือ ของมูลนิธิสร้าง รอยยิ้ม โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ องค์กรการกุศล OSI (Operation Smile International) คณะแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย ร่วมกับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด นายปรีชา ประกอบกิจ ประธานมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เปิดเผยว่า แอมเวย์ ประเทศไทย มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตลอดระยะเวลา 17 ปี กิจกรรมหนึ่งที่ได้จัดทำเพื่อตอบแทนบุญคุณสู่สังคมไทย คือ โครงการยิ้มสยาม โดยร่วมกับ องค์กร สาธารณกุศลนานาชาติ Operation Smile International (OSI) เพื่อให้การรักษาเด็กและเยาวชนได้รับการผ่าตัดให้มีรอยยิ้มใหม่ โดยจัดทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันแอมเวย์ประเทศไทยและ Operation Smile ได้มอบรอยยิ้มไปแล้วทั้งสิ้น 970 คนทั่วประเทศ
“ลองจินตนาการดูว่าถ้าพวกเราเกิดมาพร้อมกับความพิการบนใบหน้า อย่างเช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ตลอดชีวิต ไม่สามารถเดินไปพบปะใครๆ ได้อย่างภาคภูมิใจและไม่อาจยิ้มได้เหมือน คนอื่นๆ คุณจะรู้สึกอย่างไร โครงการยิ้มสยามสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยเหล่านี้จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะกับ ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังทำให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ได้ปลื้มเปรมใจ กับเขาด้วย ไม่มีกุศลจะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ อีกแล้ว ทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มและแววตาแสดงความขอบคุณจากกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้มีความรู้สึกว่า เราโชคดีนักหนาที่เกิดมาปกติ แต่พวกเขากลับมีชีวิตที่น่าเศร้ายิ่งกว่าเรามากนัก พวกเราชาวแอมเวย์รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบโอกาสแห่งรอยยิ้มให้แก่เด็กไทยทั่วประเทศ”
ในการจัดโครงการผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ถือได้ว่าประสบ ความสำเร็จในการจัดโครงการรักษามากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอการรักษา รวมทั้งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางจังหวัด ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากเห็นถึงความตั้งใจจริงของการทำงานว่าเป็นไปโดยการกุศลเพื่อผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง ให้มีชีวิตที่เติมเต็มเฉกเช่นคนอื่นๆ ในสังคม นายแพทย์ปราโมทย์ สุจินพรัหม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ เคยจัดโครงการยิ้มสยามถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน — 4 พฤษภาคม 2544 จำนวนผู้รับการบริการทั้งสิ้น 51 ราย ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 11-20 ตุลาคม 2545 จำนวนผู้เข้ารับการบริการ 164 ราย และครั้งที่สาม ระหว่างวันที่ 9-19 ตุลาคม 2545 จำนวน ผู้เข้ารับการบริการ 114 คน และในปี 2547 นี้ จะจัดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์เช่นเดียวกัน
การผ่าตัดครั้งแรก เราไม่ได้คัดกรอง เป็นคนไข้ที่มีอยู่ในลิสต์ของโรงพยาบาล ส่วนครั้งที่สองและครั้ง ที่สาม ซึ่งจัดขึ้นในปีเดียวและเดือนเดียวกันนั้น เราทำการคัดกรองจากผู้ป่วยที่ทราบข่าวจากการประชาสัมพันธ์ไปทั่วจังหวัดสุรินทร์รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงให้มารับการรักษา ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก เพราะคนไข้ที่ป่วยด้วยโรค ปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และช่วงนั้นที่โรงพยาบาลเราไม่มีหมอที่รักษาโรคนี้ พอโครงการยิ้มสยามมาจัดกิจกรรมที่นี่ เหมือนให้ชีวิตใหม่แก่พวกเขาจริงๆ ครับ”
โครงการยิ้มสยาม ครั้งที่ 8 ประจำปี 2547 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-22 ตุลาคม 2547 ณ จังหวัดสุรินทร์ โดยจะทำการคัดกรองผู้ป่วยในวันที่ 15 ตุลาคม 2547 เวลา 08.00-15.30 น. ที่โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ และรับการผ่าตัดในวันที่ 18-22 ตุลาคม ศกนี้ การคัดกรองผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดครั้งนี้ จำกัดผู้ป่วยที่ประมาณ 80 คน โดยคณะแพทย์ในจังหวัดสุรินทร์จะเป็นผู้คัดกรองในเบื้องต้นและคัดกรองอีกครั้งโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มาร่วมกันผ่าตัดในครั้งนี้
นายแพทย์วิเชษฐ์ ฉัตรวิริยะเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า “คณะจาก OSI ที่จะเดินทางมาร่วมในโครงการยิ้มสยามในครั้งนี้ มีทั้งหมด 17 คน เป็นแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดจริงๆ 7 ท่าน ที่เหลือเป็นพยาบาล ทันตแพทย์ และผู้ติดตาม ในส่วนของแพทย์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้าน ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ที่จะร่วมโครงการครั้งนี้ประมาณ 12 คน ด้วยข้อจำกัดของเวลา และ แพทย์ที่ ทำการผ่าตัด ทำให้เราต้องคัดกรองผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มาลงชื่อรับการคัดกรองก่อน เราจะให้สิทธิก่อน ซึ่งเงื่อนไขในการคัดกรอง ไม่เกี่ยวกับฐานะ เพศ และวัย แต่ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ใน 3 ประการคือ 1. ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ป่วยที่มีแผลเป็นจากการผ่าตัดปากแหว่ง เพดานโหว่ 2. ผู้ป่วยที่มีแผลเป็นบริเวณใบหน้า 3. ผู้ป่วยที่มีความพิการทางมือ นิ้วมือ นิ้วเกิน หรือนิ้วงอ”
สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้ดูแลจนกว่าผู้เข้ารับการผ่าตัดจะหายเป็นปกติ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน พักที่โรงพยาบาลดูอาการประมาณ 2 วัน แล้วไปพักต่อที่บ้าน จึงจะกลับมา ตัดไหมอีกครั้งที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ 100% มีบ้างประมาณ 1% ที่ต้องผ่าตัดซ้ำในกรณีป่วย ซ้ำซ้อน คือทั้งปากแหว่งและเพดานโหว่ หรือ กรณีติดเชื้อ ต้องรักษาต่อจนกว่าจะหายเป็นปกติ นายแพทย์ วิเชษฐ์ ย้ำถึงการดูแลหลังผ่าตัดว่า“ต้องดูว่าคนไข้ฟื้นดี หายใจดี รู้สึกตัวดี แผลผ่าตัดไม่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเด็กๆ จะงอแง เพราะปวดแผล เจ็บเผล แต่ก็หายเป็นปกติทุกราย อาจมีกรณีซ้ำซ้อนที่ต้องผ่าตัดซ้ำนั้น ปัจจุบัน โรงพยาบาลสุรินทร์มีหมอมาใหม่ที่เป็นหมอด้านนี้โดยตรง หากเป็นเมื่อก่อนก็จะส่งไปโรงพยาบาลส่วนกลางที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนี้ให้ทำการผ่าตัดให้ สำหรับโครงการยิ้มสยามในครั้งนี้ฟรีทุกอย่างครับโดยผู้สนับสนุนคือ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย จะช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดครับ” นอกจากมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย จะช่วยสนับสนุนในเรื่องของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในโครงการนี้แล้ว ยังมีนักธุรกิจอิสระของแอมเวย์อีกจำนวนกว่า 30 คน ที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือเด็กไทยด้วยการเป็นอาสาสมัครโครงการ
เราทุกคนมีส่วนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้ไม่ยากเลยหากแต่เพียงท่านไม่นิ่งเฉยเมื่อมีโอกาส เพียงเราร่วมช่วยเหลือสังคมคนละไม้คนละมือ เหมือนเช่นที่มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย และเหล่านักธุรกิจ แอมเวย์ได้ร่วมลงมือในโครงการยิ้มสยาม เด็กนับพัน นับหมื่นคน จะได้มีอนาคตอันสดใสอย่างแน่นอน ประกาศย้ำกันอีกครั้งถึงผู้ป่วย โรคปากแหว่ง เพดานโหว่ และผู้ที่มีความพิการทางมือ นิ้วมือ นิ้วเกิน นิ้วงอ หรือ แผลหดรั้ง ให้เข้ารับการคัดกรองเพื่อทำการรักษาได้ฟรี ที่โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 15 ตุลาคม ศกนี้
ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ 0 2691 6302-4, 0 2274 4782
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด (PC&C)
คุณอุมา พลอยบุตร์,
คุณวีรยา หมื่นเหล็ก,
คุณวรรณวิสาข์ พรหมมา,
คุณคุณภวิกา ขันทเขตต์--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ