กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เผยว่า โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และถือว่าเป็น “ภัยเงียบ”เพราะเป็นโรคที่ไม่ปรากฏอาการ และเป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนในอวัยวะสำคัญหลายระบบของร่างกายเช่น ตา ไต หลอดเลือด จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือดอัมพฤกษ์อัมพาต ผู้ป่วยเบาหวานจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงถึง 2 — 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติ และมากกว่าครึ่งพบความผิดปกติของปลายระบบประสาท และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ คาดการณ์ว่า แต่ละปีมีเด็กมากกว่า 70,000 คน กำลังพัฒนาสู่การเป็นโรคเบาหวาน โดยพบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด และเด็กที่เป็นเบาหวานจะมีอายุสั้นลงอีก 10 — 20 ปี ในปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 6,855 คน หรือวันละ 19 คน คิดเป็นอัตราตายด้วยโรคเบาหวาน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) และกำหนดคำขวัญการรณรงค์วันเบาหวานโลกปีนี้ คือ “Diabetes: protect our future” หรือ “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้ความรู้ การมีส่วนร่วม และการเสริมพลัง มุ่งเน้นให้ความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการป้องกัน
นพ.ศรายุธ กล่าวถึง วิธีการในการป้องกันโรคเบาหวานในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ถือว่าเป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศนั้น จะต้องมีการดำเนินการในการให้ความรู้ การมีส่วนร่วม และการเสริมพลัง ดังนี้
1. รู้เท่าทันป้องกันเบาหวาน ควรเรียนรู้สัญญาณเตือนและสังเกตอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะมากกว่าปกติ กินจุแต่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ดื่มน้ำมากผิดปกติ และสังเกตรอยดำรอบคอหรือใต้รักแร้
2. เปลี่ยนวิถีชีวิตพิชิตเบาหวาน ผู้ปกครองและครู ควรหมั่นดูแลบุตรหลานและเป็นแบบอย่างให้กับเด็กในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เช่น การรับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่และสัดส่วนเหมาะสม รับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวาน รสเค็มมากเกินไป อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ส่งเสริมให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ควรให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์นานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และควบคุมไม่ให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน
3. เบาหวานไม่แปลก ไม่แบ่งแยกจากสังคม ครอบครัวและชุมชน ควรมีความตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยเสี่ยงและอันตรายของโรคเบาหวาน และมีส่วนร่วมในการปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน และให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ดังนั้น การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมทั้งสถาบันครอบครัวต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานที่ถือเป็นอนาคตของชาติพ้นจากโรคเบาหวาน ดั่งคำขวัญ “ร่วมกันพิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” นพ.ศรายุธ กล่าว