กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการกลุ่มธุรกิจจำหน่ายเนื้อโคขุน สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร และกลุ่มธุรกิจจำหน่ายข้าว บริษัท มุกดาธัญญทิพย์ จำกัด จังหวัดมุกดาหาร ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ในพื้นที่ภาคอีสาน หวังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ปี 2558
นายสมชาย หาญหิรัญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และจนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 600 แห่ง มีผลตอบแทนที่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้กว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งในปี 2555 นี้ มีสถานประกอบการ เข้าร่วมโครงการมากถึง 158 แห่งจาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยขณะนี้การดำเนินงานการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับผลสำเร็จมากกว่า 80 % แล้ว ดังนั้น จึงได้นำคณะผู้บริหาร รวมถึงสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานประกอบการที่มีผลสัมฤทธิ์ดีเด่นจากการเข้าร่วมโครงการฯ ในการพัฒนา 6 แผนงานหลัก ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยสามารถสร้างเสริมศักยภาพของสถานประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อพร้อมสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ อีกทั้งยังสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของประเทศ ให้สามารถรองรับ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558
ด้านนายสุทธิพงศ์ วงผาบุตร ผู้จัดการสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2523 โดยกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ดำเนินธุรกิจประเภท ฆ่า ชำแหละ และ จำหน่ายเนื้อโคขุน แต่ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากบุคลากรของสหกรณ์ยังขาดความรู้ทั้งทางด้านบริหารจัดการโลจิสติกส์ และกลยุทธ์ขับเคลื่อนทางการตลาด นอกจากนี้กฎระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์บางประการ ซึ่งเป็นอุปสรรค ส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนอื่น สหกรณ์จึงได้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง จึงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product (OPOAI)
จากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ที่ปรึกษาได้เข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องของการจัดการ โลจิสติกส์ควบคู่กับกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยการถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรและศึกษาภาคสนาม เพื่อรวบรวมข้อมูล โดยมีการจัดกิจกรรมด้านโลจิสจติกส์ 4 โครงการประกอบด้วย
1. ในเรื่องการจัดทำระบบจัดเก็บสินค้าคงคลัง ทำให้ระบบการจัดเก็บสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. มีการสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 8 เครือข่ายจากที่มีอยู่เดิม 4 เครือข่ายในทุกภาคของประเทศ เพื่อให้สามารถป้อนตลาดได้อย่างเพียงพอ และลดค่าขนส่งภายใต้แบรนด์โพนยางคำ จังหวัดสกลนคร
3. มีการจำหน่ายน้ำเชื้อและให้ความรู้ผู้เลี้ยงโคพันธ์ เพื่อผสมให้เป็นลูกที่สหกรณ์ต้องการ จากนั้นก็รับซื้อคืน เพื่อส่งต่อให้สมาชิกต่อไป
4. มีการจัดหาลูกโคให้สมาชิกในราคาต่ำ พร้อมการให้สิทธิกู้ยืมเพื่อให้มีการเลี้ยงโคขุนมากขึ้นเพียงพอ กับความต้องการของตลาด วิธีการนี้จะทำให้การขายเนื้อโคขุนของสหกรณ์เพิ่มขึ้น 22.67% ของยอดขาย หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 56 ล้านบาทในอีก 2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้สหกรณ์ยังได้มีการเพิ่มจำนวนสาขาร้านค้าปลีก และมีการสร้างเครือข่ายทำให้สหกรณ์ มียอดขายเพิ่มขึ้น 3.43% หรือคิดเป็นมูลค่ายอดขายกว่า 8 ล้านบาทต่อปี
กล่าวโดยสรุปคือ สหกรณ์ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการฯ โดยสหกรณ์สามารถลดต้นทุนการขนส่งได้และเพิ่มช่องทางการตลาดได้เป็นอย่างดี
ด้านนายวัชรินทร์ มุกดาประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทมุกดาธัญญทิพย์ จำกัด จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า บริษัท มุกดาธัญญทิพย์ จำกัด ก่อตั้งโดยนายวราวุฒิ มุกดาประเสริฐ สืบทอดกิจการมาจากรุ่นคุณพ่อ ดำเนินธุรกิจโรงสีข้าว โดยโรงงานปรับปรุงคุณภาพในการผลิตข้าว เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Argo-Industrial Product หรือ OPOAI เนื่องจากมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวในเรื่องของแผนการตลาด รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านการผลิตและการบริหารต้นทุน ทำให้เกิดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันของภาคเอกชนอื่นเป็นอย่างมาก จากการเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวที่ปรึกษาได้ปรับปรุงขบวนการทำความสะอาดข้าวเปลือก กระบวนการกะเทาะ การปรับตะแกรงโยกแยกข้าวเปลือก กระบวนการขัดขาว กระบวนการขัดมัน และอื่นๆ โดยมีเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นเพิ่มขึ้น 2% ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นกำไรประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี
นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ปรึกษายังให้คำแนะนำในเรื่องของช่องทางการตลาด โดยมุ่งเน้นไปที่จังหวัดมุกดาหารและแขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว ก่อน โดยมีการปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยพัฒนาการผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มลูกค้าเพื่อสุขภาพ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ การทำข้าวกล้องงอก และการทำข้าวสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง และการทำให้สินค้าได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น GMP, HACCP, HALAL และ ISO 9000 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มความต้องการอาหารสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้แม้จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :
ธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์การโครงการ OPOAI
โทร. 0 2439 4600 ต่อ 8202
อีเมล : tanasaku@corepeak.com