กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ภาควิชาวิศวกรรมการบิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับบริษัท SIM-Industries B.V. ในเครือบริษัท Lockheed Martin ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดซื้อเครื่องฝึกบินจำลอง (Full Flight Simulator) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมลงทุนเปิดศูนย์ฝึกบินจำลอง (Ful lFlight Simulator) เพื่อให้บริการฝึก อบรมและฝึกภาคปฏิบัติแก่นักศึกษาการบินและนักบินอาชีพทั่วโลก
เอแบคได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติในสาขาวิชาวิศวกรรมการบินมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญเพื่อรองรับความต้องการบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมการบินที่มีการขยายตัวอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อผลิตนักศึกษาการบินให้เปี่ยมด้วยคุณภาพและมีประสบการณ์ในการใช้ระบบเทคโนโลยีทางการฝึกบินที่ทันสมัยที่สุด เอแบคจึงได้ดำเนินการสร้างศูนย์ฝึกบินจำลองขึ้นที่วิทยาเขตสุวรรณภูมิ โดยเบื้องต้นได้จัดซื้อเครื่องฝึกบินจำลอง รุ่น A320 JAR FSTD A Level D มูลค่าประมาณกว่า 400 ล้านบาท พร้อมเปิดให้บริการปี 2556 เป็นเครื่องฝึกบินจำลองของบริษัท AirBus รุ่น A320 ซึ่งรุ่นที่นิยมใช้กันมากที่สุด และมหาวิทยาลัยฯ ยังมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องบินจำลองของบริษัท Boeing รุ่น 777 ต่อไปในอนาคต
“เอแบคเป็นผู้นำหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทยและเป็นแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรวิศวะการบินหลักสูตร วิชาเอกนักบินผู้ช่วยเครื่องบิน (MPL) ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้นักศึกษาการบิน หรือนักบินอาชีพจากทั่วโลก สามารถเข้าฝึกได้ง่ายขึ้น เพราะเดินทางไม่กี่นาทีจากสนามบินสุวรรณภูมิก็ถึงศูนย์ฝึกแล้ว” ฟร้องซ์ เอิร์ท เดน โบการ์ด (Frank Uit den Bogaard) ประธาน คณะกรรมการบริหาร บริษัท SIM-Industries B.V. บริษัทในเครือ Lockheed Martin
“การร่วมทุนกับบริษัท SIM-Industries B.V. ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำในการผลิตเครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator) ในเครือของ บริษัท Lockheed Martin บริษัทชั้นนำผู้ผลิตเครื่องบินระหว่างประเทศและเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของโลก ทำให้การลงทุนครั้งนี้ยังตอบสนองนโยบายการให้บริการการศึกษาในรูปแบบ Lifelong Learning ที่ทันสมัย มาตราฐานการบินสากลต้อนรับอาเซียน” ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กำลังเปิดรับ น.ศ. วิศวกรรมการบินเอแบครุ่นที่ 3 ในระดับปริญญาตรีจำนวน 50 คน ซึ่งมี 3 หลักสูตรดังนี้ 1. วิชาเอกซ่อมบำรุงอากาศยาน 2. วิชาเอกนักบินพาณิชย์ตรี-(CPL) โดยทั้งสองหลักสูตรได้รับความร่วมมือจาก บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นต์เตอร์ จำกัด (BAC) ส่วนหลักสูตรที่ 3 ซึ่งเป็นหลักสูตรใหมได้จับมือกับ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด (TFT) ในเครือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาต่อยอดหลักสูตรเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตใหม่ของโลก คือ วิชาเอกนักบินผู้ช่วยเครื่องบิน (MPL) ถือเป็นความภูมิใจ เพราะในประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็น 1 ใน 10 สายการบินในโลกที่มีศักยภาพในการทำหลักสูตรนี้