สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ ปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ตอกย้ำการวิจัยพร้อมเปิดตัวรางวัล PReMA

ข่าวทั่วไป Wednesday September 29, 2004 13:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--เบรคธรู พีอาร์
สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PPA ปรับโฉมครั้งใหญ่ เป็นสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์” หรือ PReMA ตอกย้ำจุดยืนด้านการวิจัย--เส้นเลือดใหญ่ของการผลิตยานวัตกรรม พร้อมสนับสนุน R&D เต็มที่ ออกสตาร์ทด้วย “การมอบทุนเพื่อการวิจัย” สนับสนุนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อเชิดชูเกียรติและส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยม ที่สร้างความก้าวหน้าให้กับวงการวิทยาศาสต์ของประเทศไทย
นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์หรือ PPA ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายานวัตกรรม ที่มีสาขาในประเทศไทย ดำเนินการมานานกว่า 30 ปี ได้เปลี่ยนชื่อและตราสัญลักษณ์ใหม่เป็น “สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์” หรือ PReMA -- Pharmaceutical Research and Manufacturers Association แล้ว นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“ที่ผ่านมานั้น สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานด้วยดี แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ในพันธกิจที่สำคัญของสมาคมฯ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และแนวทางขององค์กรภายใต้ชื่อ PReMA หรือสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ในการสื่อสารกับประชาชนและวงการแพทย์ ถึงความมุ่งมั่นของเราต่อการสร้างสรรค์สุขภาพที่ดีให้แก่คนไทยให้เทียบเทียมมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว”
นายพรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อประชากรของโลกและในวงการแพทย์และเภสัชกรรมในระดับสากล แม้ว่าจะต้องใช้เงินมหาศาล และมีอัตราความเสี่ยงสูงระหว่างการลงทุนกับผลสำเร็จที่จะค้นพบตัวยาใหม่ แต่บริษัทวิจัยและพัฒนายา มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อสร้างนวัตกรรมยาที่จะพิชิตโรคและรักษาชีวิตของชาวโลกให้ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
“บริษัทผู้ผลิตยาที่เน้นการวิจัย ยืนอยู่แถวหน้าในการค้นคว้ายาใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่ายาตัวเดิม ความมุ่งมั่นของบริษัทเหล่านี้ ส่งผลสะท้อนให้การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญมากขึ้นในทางการแพทย์และการสาธารณสุขของโลก” นายพรวิทย์กล่าว
นายพรวิทย์เปิดเผยต่อไปว่า การปรับองค์กรครั้งนี้ สมาคมฯ จะสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัย โดยเฉพาะทางสาขาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์และระบบสุขภาพของประเทศ
“เรามีเจตจำนงที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และชีวเวชศาสตร์ภายในประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ การวิจัยนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนายาและระบบสุขภาพที่มีคุณภาพและประสิทธิผลคุ้มค่า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลถึงความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด”
เพื่อแสดงให้เห็นชัดถึงเจตนารมณ์นี้ นายพรวิทย์กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ก่อตั้ง “ทุนเพื่อการวิจัย PReMA” ขึ้น เพื่อมอบทุนและรางวัลให้แก่นักวิจัยและผู้มีผลงานวิจัยดีเด่น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
“ทุนสนับสนุนการวิจัย จะมอบให้แก่นักวิจัยที่เพิ่งเริ่มต้นหรือกำลังดำเนินโครงการวิจัยทางด้านชีวเวชศาสตร์อยู่ สมาคมฯ ได้จัดสรรเงินจำนวน 1,440,000 บาท ทุกปีเป็นเวลา 4 ปี ๆ ละ 6 ทุนๆ ละ 240,000 บาท โดยมอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้บริหารจัดการ
ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (มูลนิธิ ส.ว.ท.) มอบเงินรางวัลทุนวิจัย ปีละ 400,000 บาท ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้อยู่ในวิชาชีพแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรรมรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลงานวิจัยดีเด่นตามการคัดเลือกของมูลนิธิ ส.ว.ท.
นายพรวิทย์กล่าวในตอนท้ายว่า ทางสมาคม PReMA ยังจะจัดให้มีโครงการการศึกษาส่งเสริมองค์ความรู้อีกมาก เพื่อช่วยผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวข้างต้น บรรลุผลสำเร็จด้วยดี ภายใต้แนวคิดหลักว่า “นวัตกรรมยา เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า"
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 ในชื่อของสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PPA ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายาระหว่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทย ปัจจุบัน สมาคมฯมีสมาชิกทั้งหมด 43 บริษัท มีพนักงานทำงานรวม 12,000 คน ได้กำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเภสัชอุตสาหกรรมในระดับสากล รวมถึงส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานในการผลิตยา ตลอดจนการพัฒนาและส่งเสริมการขายเภสัชภัณฑ์ นอกจากนั้นยังให้บริการทางด้านการศึกษาและองค์ความรู้ต่างๆ แก่ผู้อยู่ในวิชาชีพทางการแพทย์ เภสัชกรรม และการพยาบาล ตลอดไปจนถึงบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ ในฐานะสมาชิกของหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมไทย PReMA ได้ประสานงานและแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ กับหน่วยงานของรัฐบาลและสมาคมการค้าต่าง ๆ ในเรื่องราวและประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาเภสัชอุตสาหกรรม รวมถึงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ข้อมูลสมาคมฯ โดยสังเขป
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2513 ในชื่อของสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PPA ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อและตราสัญลักษณ์ใหม่เป็น PReMA หรือ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวแทนและพัฒนาความก้าวหน้าของวงการเภสัชอุตสาหกรรมที่เน้นการวิจัยในประเทศไทย
ปัจจุบัน สมาคมฯ มีสมาชิกทั้งหมด 43 บริษัท มีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 12,000 คน สมาชิกเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนา รวมถึง ผลิตและจำหน่ายยาที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ยืนยาว มีสุขภาพที่สมบูรณ์และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
พันธกิจหลักของ PReMa คือ ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ด้วยการเข้าถึงยานวัตกรรมที่ผ่านขบวนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข สมาคมสนับสนุนสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ เภสัชกรรม และพยาบาล ในการเลือกใช้ยาคุณภาพที่สามารถให้ผลการรักษาโรคได้สูงสุด
เพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว สมาชิกสมาคมฯ ได้ผลิตและจำหน่ายเภสัชภัณฑ์ในประเทศไทย อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยยึดถือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา หรือ GMP (Good Manufacturing Practices) ซึ่งเป็นหลักประกันสำหรับผู้ป่วย แพทย์ เภสัชกรและผู้จัดจำหน่ายว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
สมาชิก PReMA ทุกบริษัทยึดมั่นในธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดในการจำหน่ายเภสัชภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่วงการแพทย์อย่างมีจริยธรรมและโปร่งใส และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการส่งเสริมการขาย ทั้งนี้เพื่อผลดีด้านสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน
ทั้งนี้ PReMA ได้จัดทำหลักเกณฑ์จริยธรรมทางการตลาด หรือ Code of Ethical Marketing Practices ขึ้นตามข้อบังคับของสมาคม ซึ่งขณะนี้แก้ไขปรับปรุงเป็นครั้งที่ 6 แล้ว และยังได้ผนวกเอา หลักเกณฑ์จริยธรรมทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพต่อร้านค้าเข้าไว้ด้วย เพื่อควบคุมการจำหน่ายยาสามัญ (ยาที่ประชาชนซื้อมารักษาตนเองได้โดยถูกกฎหมาย) หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์จริยธรรมขององค์การอนามัยโลก --World Health Organization’s (WHO) Ethical Criteria, กฎเกณฑ์ปฏิบัติเพื่อการจำหน่ายเภสัชภัณฑ์ ของสหพันธ์สมาคมผู้ผลิตยานานาชาติ -- IFPMA Code of Marketing Practices for prescription products และกฎเกณฑ์การตลาดสำหรับยาที่ประชาชนสามารถซื้อมารักษาตนเองได้ -- World Self-Medication Industry’s (WSMI) Code of Marketing Practices for OTC productsใ
PReMA ยังส่งเสริมให้สมาชิก ยึดมั่นในการรักษามาตรฐานทางจริยธรรมของการทำธุรกิจ รวมทั้งการดำเนินการพัฒนาผลิตเภสัชภัณฑ์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาดซึ่งสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของสหพันธ์สมาคมผู้ผลิตยานานาชาติ และเป็นไปตามกฎหมายไทย
PReMA และกลุ่มบริษัทที่เป็นสมาชิกได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมเป็นจำนวนมาก โดยบทบาทสำคัญที่สุดคือ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยให้ประชาชนในชนบทยากจน มีโอกาสได้รับยามากขึ้น, ทำการวิจัยและพัฒนายาเพื่อต่อสู้กับโรคที่แพร่หลายในประเทศไทย และจัดโปรแกรมให้การศึกษาทางด้านสุขภาพแก่ประชาชน
ยิ่งไปกว่านี้ นับตั้งแต่ก่อตั้ง PReMA ได้บริจาคเงินช่วยเหลือให้แก่องค์กรและโครงการต่างๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น โครงการในพระราชดำริ กาชาด Thai-Muslim Hajji Mission และมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในด้านทรัพยากรบุคคลและความช่วยเหลือทางเทคนิคด้วย
สมาคมฯ มีบริการต่างๆ มากมาย อาทิ รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถิติต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ระเบียบ การพัฒนาตลาดตลอดจนอุตสาหกรรมที่ทันสมัย พร้อมทั้งเปิดคอร์สอบรมสัมมนาให้แก่สมาชิกและหน่วยงานรัฐบาลทางด้านการพัฒนาทางเทคนิคใหม่ๆ นอกจากนั้นยังจัดประชุมสมาชิก บรรยายและสัมมนาเป็นประจำทุกเดือน ในฐานะสมาชิกของหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมไทย PReMA ได้ประสานงานและแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ กับหน่วยงานของรัฐบาลและสมาคมการค้าต่าง ๆ ในเรื่องราวและประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาเภสัชอุตสาหกรรม รวมถึงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ทุนเพื่อการวิจัย PReMA
การจัดตั้งทุนเพื่อการวิจัย PReMA
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ได้จัดตั้งทุนเพื่อการวิจัย PReMA เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและพันธกิจของสมาคมฯ ในการส่งเสริมการวิจัยในประเทศไทย
PReMA ได้อุทิศตนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยและความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศไทย โดยผ่านการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรม ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปด้วยพร้อมๆ กัน
ทุนเพื่อการวิจัย PReMA ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ไทย เกิดแรงบันดาลใจในการวิจัย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์กร 2 แห่งคือ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
วัตถุประสงค์ของทุนเพื่อการวิจัย
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) จะมอบทุนเพื่อการวิจัย PReMA เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้ :
สนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้แก่การทำงานวิจัยต่าง ๆ
ส่งเสริมการค้นคว้าและพัฒนาตัวยาใหม่ที่ดีกว่า ด้วยการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์
ทุนเพื่อการวิจัย PReMA 2548
ทุนเพื่อการวิจัย PReMA มุ่งเน้นหนักการวิจัยทางด้านชีวเวชศาสตร์ (Biomedicine
Science) ด้วยตระหนักดีว่า ความก้าวหน้าทางชีวเวชศาสตร์ และเทคโนโลยี จะนำไปสู่ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาอันซับซ้อนของมนุษย์ รวมทั้งค้นพบและพัฒนาการรักษาโรคต่างๆ ด้วยยาได้เป็นจำนวนมาก
ทุนเพื่อการวิจัย PReMA จำแนกได้ดังนี้
ทุนสนับสนุนการวิจัย — มอบให้นักวิจัยที่กำลังเสนอโครงการใหม่หรือหรือดำเนินการวิจัยอยู่ในสาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ — มอบให้เพื่อประกาศเกียรติคุณนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานหรือผลงานวิจัยดีเด่นในทางวิทยาศาสตร์
ปี 2548 จะเป็นปีแรกที่มีการมอบทุน และทุนสนับสนุนการวิจัย PReMA โดยทุนวิจัยจะบริหารจัดการโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีจำนวนรวม 6 ทุน ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะมอบให้ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ทุนเพื่อการวิจัย PReMA จะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ขอรับทุนจะต้องมีสัญชาติไทย ทำโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงต้องทำงานอยู่ในสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ภายในประเทศ เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันหรือมูลนิธิทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสถาบันทางวิชาชีพและวิชาการอื่นๆ ที่เหมาะสม
การสมัครเพื่อขอรับทุนเพื่อการวิจัย PReMA
ผู้สมัครจะต้องกรอกใบสมัครของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งสามารถขอรับได้จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชั้น 14 เอส เอ็ม ทาวเวอร์, 979/17-21 ถนนพหลโยธิน, สามเสนใน, พญาไท กรุงเทพ 10400 โทรศัพท์ 0-2298-0455 โทรสาร 0-2298-0476-77
www.trf.or.th
กำหนดปิดรับสมัครวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 (ไม่รับใบสมัครหลังวันหมดเขต) ทั้งนี้ผู้ขอรับทุน จะทราบผลในภายในเดือนพฤษภาคม 2548
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
การคัดเลือกผู้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ดำเนินการโดย มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท, ปทุมวัน, กรุงเทพ 10500 โทรศัพท์/โทรสาร 0-2252-7987
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์
คุณพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมฯ
ภญ.พนิดา ปัญญางาม ผู้อำนวยการบริหารสมาคมฯ โทร. 0-2619-0729-32
เสนอข่าวในนาม สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ โดยเบรคธรู พีอาร์
เบรคธรู พีอาร์
คุณรัตนา ปัทมาลัย โทร. 0-2719-6446-8--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ