กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ซีทรู มีเดีย
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุนว่า มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 200 ราย ผ่านการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย 1 ราย ทั้งนี้เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหม่ จึงต้องมีการจัดทำระบบ กฎเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ในการดำเนินงาน ประกอบกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ผลิตสินค้า OTOP ต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการนั้นยังขาดความสามารถในการเขียนแผนการเพื่อขอวงเงินกู้ ตลอดจนขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ จึงทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการอนุมัติเงินกู้เพียงรายเดียว
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ พระนครเหนือ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 2 สัปดาห์ ที่เน้นในเรื่องการวางระบบการจัดการทางธุรกิจ การจัดทำแผนประกอบธุรกิจเพื่อยื่นเสนอขอรับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการอบรมประมาณ 30 ราย และคาดว่าเมื่อผ่านหลักสูตรนี้จะมีผู้ประกอบการที่สามารถขออนุมัติเงินกู้จากโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุนได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20 รายในเดือนตุลาคมนี้
นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะจัดให้มีงาน “แปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน…รางวัลแด่คนช่างคิด” ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2547 นี้ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม บี โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า กรุงเทพ งานดังกล่าวจะมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “แปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุนทำได้อย่างไร” โดยวิทยากรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมฯ และผู้ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน มาให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งมีการจัดพิธีมอบรางวัลแด่ผู้ชนะการประกวดผลงานลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยด้านลิขสิทธิ์ และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาไทย
การจัดงานเสวนาและพิธีมอบรางวัลในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ผลการประกวดและผลการดำเนินงานของโครงการฯ อันเป็นการส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาไทย ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานจากการประกวดในโครงการส่งเสริม และพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และภูมิปัญญาไทย
สำหรับการประกวดผลงานลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรในครั้งนี้แบ่งเป็น การประกวดผลงานลิขสิทธิ์ 3 ด้าน คือการแต่งเพลง , การสร้างของที่ระลึก และการสร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์สื่อการเรียนการสอน ส่วนการประกวดผลงานสิทธิบัตรแบ่งเป็น ด้านการประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ใน 4 ประเภท คือ อาหารหรือเครื่องดื่ม เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผ้าหรือเครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือของที่ระลึก โดยมีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวด ทั้งนิสิตนักศึกษา กลุ่มแม่บ้าน ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ และประชาชนทั่วไป รวม 598 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานลิขสิทธิ์ 297 ผลงานและผลงานสิทธิบัตร 301 ผลงาน ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวด 41 รางวัล รวมมูลค่ารางวัล 1,600,000 บาท
“จากการจัดประกวดในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่า คนไทยมีศักยภาพสูงมากในการคิดและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เข้ามาประกวด ซึ่งผลงานที่ส่งเข้ามานั้นมีความน่าสนใจและมีความหลากหลายมาก มีทั้งการนำเทคโนโลยีง่ายๆ หรือภูมิปัญญาจากท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นผลงานส่งเข้าประกวด โดยหากดูจากความสนใจในการส่งผลงานเข้าประกวดแล้ว กรมฯ มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมประกวดในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายย่อย, ผู้ผลิตสินค้า OTOP, นักพัฒนาซอฟแวร์, ผู้สร้างสรรค์และนักประดิษฐ์ รวมทั้งผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้นำผลงานที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ นั้น ไปใช้สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตามโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายรัฐบาลที่กรมฯ ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง” นายคณิสสร กล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--