ฟิทช์คงอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2012 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘A-’ และ อันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (International Short-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘F3’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของปตท.ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทาง พลังงานของประเทศ รวมถึงสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับระดับอันดับเครดิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ปตท.ยังเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยอีกด้วย สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้ประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ค่อนข้างคงที่ อันเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 25 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของ ปตท. นอกจากนี้ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 60 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายรวม เกือบร้อยละ 75 ของการผลิตเป็นการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ปตท. มีการเข้าไปซื้อสินทรัพย์และกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวและทดแทนปริมาณพลังงานสำรองที่ถูกใช้ไป ในปี 2555 ปตท. ใช้เงินลงทุนประมาณ แปดหมื่นห้าพันล้านบาท ในการเข้าซื้อบริษัท Cove Energy plc (Cove) ในประเทศอังกฤษ และในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Sakari Resources Limited ซึ่งเป็นผู้ผลิตถ่านหิน การเข้าซื้อกิจการเหล่านี้จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินและระดับหนี้สินของปตท. เพิ่มสูงขึ้น โดยการลงทุนใน Cove และ การลงทุนร้อยละ 40 ใน Kai Kos Dehseh Oil Sands project (KKD; จำนวนเงิน 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในประเทศแคนนาดา ในปี 2553 จะยังไม่สร้างกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทฯ อย่างน้อยจนกว่าในปี 2559 นอกจากนี้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ซึ่ง ปตท. ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 67 มีแผนที่จะเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะการเงินของบริษัทฯ การเพิ่มทุนดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อ ปตท. แม้ว่าฟิทช์คาดว่าเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนของ ปตท.สผ. ในสัดส่วน 2 ใน 3 จะมาจาก ปตท. เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิมเอาไว้ ฟิทช์คาดว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลของ ปตท. จะติดลบอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2557 เนื่องจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว จากการคาดการว่าระดับหนี้สินของ ปตท. จะสูงขึ้น ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO)) จะดีขึ้นเช่นกัน ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ ปตท. (ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage)) จะดำรงอยู่ในระดับ 2.0 เท่า ถึง 2.2 เท่าในช่วง 3 - 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวในช่วงปี 2553 และปี 2554 ที่อยู่ที่ระดับประมาณ 1.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มีความเห็นว่าอัตราส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตของปตท.โดยลำพัง (Standalone Rating) ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากความแข็งแกร่งของธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตปตท.โดยเริ่มจากการพิจารณาเครดิต Standalone Rating ของ ปตท. แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-up basis) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของปตท. เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของภาครัฐฯ ต่อปตท.ในทางอ้อม (Implicit Support) อย่างไรก็ตามเนื่องจากอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิต Standalone ของปตท. ดังนั้นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากการสนับสนุนของภาครัฐฯต่อปตท.ในทางอ้อมจึงไม่มีผลในกรณีนี้ ในขณะที่อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ที่ระดับ ‘BBB’ ถูกจำกัดให้เท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปตท. โดยถืออยู่ร้อยละ 51 ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: -การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตของประเทศไทย ปัจจัยลบ: -การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ทำให้ปตท.เสียประโยชน์ - การลงทุน/การเข้าซื้อกิจการจำนวนมากโดยใช้เงินกู้ยืม -อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน) (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) ที่สูงกว่า 2.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง) -การปรับลดอันดับเคริตของประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ