กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ปภ.
มท.1 สั่งการ ปภ. ประสานจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วงเชิงรุก เชื่อมโยงการทำงานรูปแบบ Single Command เน้นแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ พร้อมยึดแนวทาง กบอ. เป็นหลัก และปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนทิ้งช่วง) 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด ขอนแก่นชัยภูมิ บุรีรัมย์ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 115 อำเภอ 817 ตำบล 8,494 หมู่บ้าน ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์ขาดแคลนน้ำที่อาจขยายวงกว้าง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งกำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
โดยมุ่งการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธิภาพและการกระจายน้ำอย่างทั่วถึง เน้นแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเชิงรุกให้เข้าถึงระดับพื้นที่ (Area Approach) พร้อมยึดแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และปรับใช้ให้เหมาะสม โดยเชื่อมโยงการบูรณาการบริหารจัดการน้ำกับจังหวัดต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ควบคู่กับการดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในสังคม เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ตรงจุดและเป็นรูปธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวต่อไปว่า ปภ. ได้บูรณาการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการและจัดสรรน้ำบนดินและน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งข้อมูลการจัดสรรน้ำ พื้นที่ และชนิดของพันธุ์พืชที่เพาะปลูกได้ในช่วงฤดูแล้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแจ้งให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชได้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำ ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภาวะฝนทิ้งช่วงของ ปภ. ได้ดำเนินการภายใต้ระบบการบริหารจัดการภัยรูปแบบ Single Command ตามนโยบาย ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประสานข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการน้ำกับ กบอ. และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับจังหวัดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมมิให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้น