ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารทหารไทยที่ ‘BBB-’/ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2012 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ ‘BBB-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘A+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่นๆ แสดงอยู่ในส่วนท้าย อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TMB อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเองเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิต อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB สะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารและการปรับตัวดีขึ้นในอนาคตน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่ธนาคารสามารถรักษาสถานะในด้านการระดมทุน สภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่ดีได้ ถึงแม้ว่าอัตราส่วนกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของ TMB ที่มีการปรับตัวดีขึ้นแล้ว จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าความแตกต่างดังกล่าวได้ปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ธนาคารมีฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งขึ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดขึ้นและมีการบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่อันดับเครดิตของ TMB จะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ TMB ในอนาคตไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันหากการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของธนาคารมีทิศทางที่เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามหรือธนาคารมีการเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินงาน ซึ่งอาจเห็นได้จากการขยายสินเชื่อในระดับสูง ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องและความพยายามในการเพิ่มอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อ การควบคุมค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของ TMB ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2555 TMB มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่สินเชื่อเติบโตเกือบ 10% จากสิ้นปี 2554 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับทรงตัว และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (Net interest margin) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% (ปี 2554: 2.5%) เนื่องจากธนาคารพยายามลดสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) และลูกค้ารายย่อยที่มีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากการที่ธนาคารมีมาตรฐานการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และมีการบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ 6.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารยังคงมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 และช่วงก่อนการเข้ามามีส่วนร่วมในธนาคารของ ING Bank NV (ING; ‘A+’/Stable) อย่างไรก็ตามในอนาคตฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก TMB ได้มีการบริหารจัดการลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เสร็จสิ้นไปแล้วเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูง ส่วนหนึ่งเนื่องจากอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TMB ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ 83.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่สูงกว่า 100% ฐานเงินฝากของ TMB ได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นจากการที่ธนาคารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยธนาคารสามารถเพิ่มสัดส่วนเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่นคงได้ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านการระดมทุนและสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง อัตราส่วนเงินฝากต่อสินเชื่อของ TMB อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำในอดีต อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 11.5% และอัตราส่วนเงินกองทุนของฟิทช์ (Fitch Core Capital) ที่ 12.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและในภูมิภาค ซึ่งน่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ความเสี่ยงจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูง และกลยุทธ์ของธนาคารที่จะกลับมาเน้นการขยายสินเชื่อมากขึ้นได้ในระดับหนึ่ง TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวมที่ 622.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ING เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 30% ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่น ประกอบด้วย กระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นอยู่ที่ 26% และ DBS Bank (DBS; ‘AA-’/Stable) ของสิงค์โปร์ที่ 2.9% ฟิทช์เชื่อว่ามี ความเป็นไปได้ระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น ส่งผลให้ธนาคารมีอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BB+’ ฟิทช์คงอันดับเครดิตดังต่อไปนี้: - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ - อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘bbb-’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BB+’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ