กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--บีโอไอ
ยอดการลงทุนปีงบประมาณ 2547 สูงกว่าเป้าหมาย 12.5% โดยมีโครงการลงทุนถึง 1,259 ราย คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 4.5 แสนล้านบาท ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ได้รับส่งเสริมในช่วงครึ่งปีแรก 2547 มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด เมื่อเทียบกับประเทศใน อาเซียน
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนของประเทศ ในช่วงปีงบประมาณ 2547 (ต.ค. 46 — 28 ก.ย. 47) ว่า มูลค่าการลงทุนสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาท โดยมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงปีงบประมาณ 2547 ถึง 1,259 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 450,413 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าประมาณร้อยละ 12.5
“ นอกเหนือจากมูลค่าการลงทุนที่ทะลุเป้าหมายประมาณ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเอสเอ็มอี และกิจการที่ก่อให้เกิดการถ่ายทอดทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการไทย ล้วนทะลุเป้าหมายทั้งสิ้น โดยบีโอไอได้ให้ส่งเสริมแก่กิจการ เอสเอ็มอีถึง 208 โครงการ และให้ส่งเสริมโครงการด้าน STI ถึง 116 โครงการ ” นายสาธิตกล่าว
สำหรับภาวะการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 (ม.ค. — ก.ย. 47) พบว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 974 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 389,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับในช่วง 9 เดือนของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนเพียง 243,900 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการจ้างแรงงานไทยกว่า 176,930 คน
กิจการในหมวดอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีการยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดจำนวน 176 โครงการ เงินลงทุน 129,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 223 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการลงทุน 39,900 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นทั้งการบริโภคในประเทศ จึงส่งผลให้มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานมากขึ้น ได้แก่ โครงการวางท่อก๊าซธรรมชาติ และกิจการขนส่งทางเรือ
อันดับสองคือกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 162 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 75,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น HDD และแผงวงจรไฟฟ้า ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 50,000 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในช่วงครึ่งปีแรก 2547 (ม.ค. — มิ.ย.) พบว่า มีมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 3 รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในช่วงปี 2538 — 2546 โดยสาวนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมี กระดาษและพลาสติก
อันดับ 2 คือ สิงคโปร์ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเครื่องกล อันดับ 4 เวียดนาม 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่และโลหะพื้นฐาน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--