กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--บีโอไอ
- บีโอไอปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน ตามนโยบายของรัฐบาล
- ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เอื้อแก่กิจการผลิตพลังงานทดแทน และกิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้พลังงานทดแทน โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุด
-เปิดประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริม กิจการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรืออุปกรณ์ซึ่งใช้พลังงานทดแทน และกิจการด้านการจัดการพลังงาน
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ปัจจุบันปัญหาด้านพลังงานของประเทศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภาครัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบีโอไอจะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการด้านพลังงาน และจะเปิดประเภทกิจการที่จะให้ ส่งเสริมการลงทุนเพิ่มอีก 2 ประเภท
ในส่วนของการเพิ่มสิทธิประโยชน์นั้น บีโอไอจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการผลิตพลังงานทดแทนและกิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้พลังงานทดแทน โดยกำหนดให้เป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ ทั้งนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และไม่จำกัดวงเงินภาษี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอเปิดประเภทให้การส่งเสริมการลงทุนใหม่อีก 2 ประเภทคือ
1. กิจการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรืออุปกรณ์ซึ่งใช้พลังงานทดแทน
2. กิจการบริการด้านการจัดการพลังงาน (Energy Service Company-ESCO) โดยทั้ง 2 กิจการถือเป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ ทั้งนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดเช่นกัน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และไม่จำกัดวงเงินภาษี
แต่ทั้งนี้โครงการที่จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการบริการด้านการจัดการพลังงาน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานก่อน รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมเพื่อผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อประหยัดพลังงาน ต้องเป็นรายการที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานก่อนเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบในอีกมาตรการหนึ่งคือ ให้ผู้ที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมในทุกประเภท กิจการ หากประสงค์จะนำเข้าเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยประหยัดพลังงานในโรงงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ให้ความเห็นชอบแล้ว สามารถยื่นขอนำเข้าเครื่องจักร โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร แต่ทั้งนี้จะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 และจะต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการอนุมัติ--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--