กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ไอบีเอ็ม
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วางใจใช้โซลูชั่นไอบีเอ็มสมาร์ทบิสสิเน็สเดสก์ทอปคลาวด์ และเซิร์ฟเวอร์ไอบีเอ็มพัฒนาระบบการศึกษามิติใหม่ “ยูทีซีซี ไฮบริดเลิร์นนิ่ง ซิสเท็ม” เสริมความคล่องตัวให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงและใช้สื่อการเรียนการสอนได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยคอมพิวเตอร์ในทุกแพลตฟอร์ม สนองแนวคิด “Anytime, Anywhere & Any devices” เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง (e-Learning) อย่างเต็มรูปแบบ
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมใหม่ในโลกยุคดิจิตอล ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี โดยล่าสุดได้ลงทุนพัฒนาระบบการเรียนรู้ยุคใหม่ ยูทีซีซี ไฮบริดเลิร์นนิ่ง ซิสเท็ม เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ในยุคดิจิตอลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มุ่งสู่การเป็นผู้นำในระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถสื่อสาร รวมถึงเข้าถึงเนื้อหาและสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องได้ทุกที่ ทุกเวลา ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยลัยใช้ สื่อการสอนที่หลากหลาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สามารถรองรับการใช้งานได้ทุกแพลตฟอร์มและหลากหลายระบบปฏิบัติการ (OS) มหาลัยจึงเลือกใช้เทคโนโลยีและโซลูชั่นของไอบีเอ็มเนื่องจากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของไอบีเอ็มที่มีมานาน มีความพร้อมด้านบุคลากรและบริการหลังการขาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากระบบในระยะยาว”
เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดและสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับไอบีเอ็มในการพัฒนาโซลูชั่นที่จะช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นไอแพด (iPad) ไอโฟน (iPhone) ซึ่งใช้ระบบไอโอเอส (iOS) หรือเครื่องแท็บเล็ตซึ่งใช้ระบบแอนดรอยด์ (Android) หรือ วินโดวส์ (Windows) สามารถเข้าถึงระบบอีเลิร์นนิ่งได้ทุกที่ ทุกเวลา ช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เพราะนักศึกษาสามารถนำเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกประเภทมาเชื่อมต่อและใช้งานในระบบของทางมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงแพลตฟอร์ม ทั้งยังช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์จากระบบอีเลิร์นนิ่งที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย”
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการบริการทางการศึกษาให้ดีขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราเชื่อว่าด้วยศักยภาพของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในฐานะสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของไทย บวกกับโซลูชันที่ครบครันของไอบีเอ็มและความเชี่ยวชาญของบุคคลากร จะเสริมให้การเรียนการสอนในระบบ ไฮบริดเลิร์นนิ่ง 2.0 ดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพของทั้งอาจารย์และนักศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของไทยให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ต่อไป”
สำหรับเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มนำมาใช้ในการพัฒนาระบบครั้งนี้ ได้แก่ไอบีเอ็มสมาร์ทบิสสิเนสเดสก์ทอปคลาวด์ (IBM Smart Business Desktop Cloud) เป็นโซลูชั่นในการสร้างสภาพการทำงานพีซีแบบเสมือน (Desktop Virtualization) ทำให้ผู้ใช้เดสก์ทอปหรืออุปกรณ์ใดก็ตามที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงและใช้งานเดสก์ทอปแอพพลิเคชั่นได้อย่างปลอดภัยในรูปแบบคลาวด์ เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุน ประโยชน์ที่ได้รับ คือ กระบวนการประมวลผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ใช้เซิร์ฟเวอร์ในการประมวลผล โดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นแค่ช่องทางในการเชื่อมต่อเท่านั้น กรณีมีการอัพเดทซอฟแวร์ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถลงอัพเดทที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์และกระจายสู่เครื่องลูกข่ายได้ในทันที ตัวอย่างเช่น อาจารย์ต้องใช้โปรแกรมเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่าในการเรียนการสอนก็สามารถอัพเดทได้ทันที ต่างจากในอดีตที่อาจารย์ต้องให้นักศึกษาทุกคนกลับไปลงโปรแกรมก่อน ซึ่งสร้างความยุ่งยากต่อเจ้าหน้าที่เทคนิคในการลงโปรแกรมให้นักศึกษาที่อาจมาลงพร้อมๆ กันเป็นจำนวนพันคน แต่ถ้าใช้เชิร์ฟเวอร์เป็นตัวกระจายอัพเดทนั้น จะทำให้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ เซิร์ฟเวอร์ IBM X series ยังช่วยยืดอายุการใช้งานคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าได้อีกหลายปี เนื่องจากการประมวลผลหลักจะโยงเข้ามาที่ตัวเซิร์ฟเวอร์เป็นหลัก ทำให้แม้ใช้งานเครื่องเก่าแต่ยังได้ใช้เทคโนโลยีที่อัพเดทอยู่เสมอ