สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ งานประชุมวิชาการ วทท. ครั้งที่ 30

ข่าวเทคโนโลยี Friday October 1, 2004 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 อยู่ที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมก็คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์การค้านานาชาติ อิมแพค เมืองทองธานี
ตั้งแต่วันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 นี้
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า งานนี้เป็นที่รวมของงานวิชาการและผลงานที่นักวิชาการเสนอขึ้นมา เพื่อที่
จะเผยแพร่ให้กับสังคมไทยได้ทราบว่า งานวิชาการของประเทศไทยที่นักวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินอยู่มีอะไรบ้าง
ผลกระทบต่อสังคม ต่ออุตสาหกรรมอย่างไร และมีผลงานอะไรที่น่าสนใจโดยเฉพาะในปีนี้ จะมีการเชิญนักวิทยาศาสตร์โนเบลไพรซ์ สาขาฟิสิกส์ ซึ่งเน้นทางด้านดาราศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดักกลาส โบโซลอฟ
จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาร่วมการบรรยายในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ในช่วงบ่าย ส่วนในช่วงเช้าก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเกาหลี 2 ท่าน จะมาบรรยายในเรื่อง “การโคลนนิ่งมนุษย์" ซึ่งเกาหลี ได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ประเทศแรก ที่ทำการโคลนนิ่งมนุษย์สำเร็จ
การจัดประชุม วทท. ครั้งที่ 30 นี้ จะมีการประชุมวิชาการทั้งหมด 12 สาขาวิชา โดยเฉพาะทางด้านสาขาวิชาหลัก ๆ มีทางด้านคณิตศาสตร์,คอมพิวเตอร์, ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ,ด้านเคมี ,ด้านฟิสิกส์,วัสดุศาสตร์,เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร,ธรณีวิทยา ,การแพทย์ ,สิ่งแวดล้อม ,วิศวกรรม,วิทยาศาสตร์ศึกษาและทางด้านไคตินไคโตซาน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะมีการวิจัยของทั้งอาจารย์ นักศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะได้นำเสนอผลงานวิจัยเป็นสาขา ๆ ไป ตั้งแต่วันที่ 19-21 ตุลาคม ศกนี้ ทั้งในรูปของการบรรยายส่วนหนึ่งและในรูปของโปสเตอร์ส่วนหนึ่ง ในปีนี้มีจำนวน 825 เรื่อง บางเรื่องน่าสนใจมาก บางเรื่องผลการวิจัยมีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก
สำหรับวิทยาศาสตร์นั้น เมื่อมีวิทยาศาสตร์พื้นฐานแล้วเป็นบันไดขั้นแรก ที่จะมีการสานต่ออย่างต่อเนื่องและจะมีการต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ การนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นจึงมีคุณค่ามหาศาล ดังนั้น คนที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ คนบางคนอาจจะไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเป็นแนวทางหนึ่งที่จะกำหนดทิศทางในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การประดิษฐ์โซลาร์เซลเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลแสงแดด เป็นพลังงานทดแทนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมากมาย จะเห็นว่า การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มีผลช่วยกระตุ้นความสนใจทำให้แต่ละคนพยายามประดิษฐ์คิดค้นอะไรบางอย่างขึ้นด้วยฝีมือและมันสมองของคนไทย นักวิจัยไทย
ในงาน วทท. ครั้งที่ 30 นี้ จะมีการจัดสัมมนาเรื่อง “การประชุมวิชาการไคติน-ไคโตซานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ จัดโดย ศูนย์วัสดุชีวภาพไคติน-ไคโตซาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
จากการจัดประชุมวิชาการไคติน-ไคโตซานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2546 ณ อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอผลงาน วิจัยทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ โดยผลงานที่นำเสนอแต่ละชิ้นมีคุณค่าและนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยที่ยั่งยืนในอนาคต การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยในสาขาไคตินและไคโตซานและเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านงานวิจัยและทิศทางการวิจัยในระดับประเทศ
ศูนย์วัสดุชีวภาพไคติน-ไคโตซาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดให้มีการประชุมวิชาการไคติน-ไคโตซานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยรวมงานดังกล่าว เข้ากับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท) ครั้งที่ 30 ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนิสิต นักศึกษา ทุกระดับ ตลอดจนภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอผลงานวิชาการ และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ อันจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป
แนวทางนี้ จะมุ่งที่การศึกษาพัฒนาทรัพยากรที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยความสนใจจะเน้นที่โพลิเมอร์จากธรรมชาติ เช่น ไคติน/ไคโตซาน ซึ่งได้จากเปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนหมึก เป็นการเพิ่มมูลค่าของของเหลือและลดปริมาณขยะ หรือยางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับทรัพยากรที่จัดอยู่ในกลุ่มเซรามิกส์ จะเน้นที่การหาวิธีเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้เป็นสารเซรามิกส์ยุคใหม่เพื่อประยุกต์ใช้ในงานโครงสร้าง เช่น ซิลิกอนคาร์ไบด์เพื่อเป็นวัสดุสำหรับการตัดแต่ง หรือซิลิกอนไนไตรด์สำหรับชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไก หรือสารกลุ่มอิเล็กโทรเซรามิกส์ซึ่งมีสมบัติพิเศษทางด้านไฟฟ้า แม่เหล็ก แสง และความร้อน เช่น แบเรียมไททาเนตเพื่อใช้ทำตัวเก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น หรือหาวิธีการประยุกต์ใช้แบบใหม่ เช่น ดินน้ำมัน (oil shale) ทรายน้ำมัน หินน้ำมัน กากที่ได้จากการเผาหินน้ำมันอย่าง Bottom Ash กากที่ได้จากการเผาถ่านลิกไนต์อย่าง Fly Ash หรือหากระบวนการเพื่อผลิตสารให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น China Stone ยิปซั่ม และ Quartz เป็นต้น
นอกจากนี้การประชุมวิชาการ ยังเป็นเวทีในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้สามารถดำเนินงานวิจัยได้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่ความร่วมมือในอนาคต คาดว่าผู้ที่จะเข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป
ผลงานที่สนใจของนักวิจัยไทยมีอยู่มากมาย อย่างเช่น ในปีนี้ ไฮไลท์ของงานจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีด้านนาโนไคติน-ไคโตซาน ซึ่งสกัดจากวัสดุเหลือใช้จากเปลือกกุ้ง เปลือกหอย และเปลือกปู ที่นำมาเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ (ของเหลือจากทะเลสู่ไคติน-ไคโตซาน) ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทย มีการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกุ้ง ปูและปลาหมึก ซึ่งอัตราการส่งออกนี้เป็นดัชนีแสดงถึงกากของเสียที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิต อาทิ เปลือกหัวกุ้ง กระดองปูและแกนปลาหมึก โดยในปัจจุบันของเหลือเหล่านี้ถูกขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในราคาที่ต่ำมาก ดังนั้น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นที่จับตามองของนักอุตสาหกรรม
กากของเหลือจากทะเลเหล่านี้ สามารถนำมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มได้โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ไคตินและไคโตซาน
ไคติน พบมากในเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก ผนังเซลล์ของเชื้อจุลินทรีย์และเห็ดรา อย่างไรก็ตาม การผลิตเชิงพาณิชย์มักจะใช้เปลือกกุ้ง กระดองปูและแกนปลาหมึกเป็นวัตถุดิบโดยผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ยุ่งยากนัก ได้แก่ขบวนการสกัดโปรตีนโดยใช้กรดเกลือเจือจางและโซเดียมไฮดรอกไซด์เจือจางและขบวนการสกัดแร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเรียกว่า “ไคติน”
ส่วนไคโตซาน เป็นอนุพันธ์ของไคติน ผ่านกระบวนการดึงหมู่อะซิทิลของไคตินออกด้วยด่างเข้มข้น เรียกขบวนการนี้ว่า deacetylation ผลิตภัณฑ์ไคโตซานที่ได้จะมีคุณภาพและสมบัติแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเทคนิคและขั้นตอนการผลิต
กรรมวิธีและขั้นตอนการผลิตไคติน — ไคโตซาน
เปลือกกุ้ง - กระบวนการแยกโปรตีนด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เจือจาง ฎ กระบวนการแยกแร่ธาตุด้วยสารละลายกรดเกลือเจือจาง - ไคติน - กระบวนการดึงหมู่อะซิทิลด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น ฎ ไคโตซาน
การประยุกต์ใช้ไคติน — ไคโตซาน
ไคติน — ไคโตซาน เป็นวัสดุชีวภาพที่มีความหลากหลายและมีสมบัติที่โดดเด่น อาทิ มีความเป็นประจุบวกสูง สามารถทำให้เป็นแผ่นฟิล์มที่มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติไม่มีพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไคติน — ไคโตซาน จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ด้านการแพทย์และเภสัชกรรม อาทิ เป็นวัสดุตกแต่งแผลและควบคุมการปลดปล่อยของยา
- ด้านการเกษตร อาทิ เคลือบเมล็ดพันธุ์พืชและเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
- ด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาทิ เป็นสารเติมแต่งในแป้งทาหน้า แชมพู สบู่และ ครีมทาผิว
- ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและกระดาษ อาทิ รักษาความสดใสของสีผ้า ระบายเหงื่อ ยังยั้งการเจริญ เติบโตของพืช
- ด้านการแยกทางชีวภาพ อาทิ การทำเป็นแผ่นเมมเบรน เพื่อใช้ในการกรองแยกด้วยเทคนิคต่าง ๆ ประโยชน์อื่น ๆ อาทิ บรรจุภัณฑ์ สารเพิ่มความหนืด
ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จากความร่วมมือของคณาจารย์และนักวิจัยภายใต้ศูนย์วัสดุชีวภาพ ไคติน ไคโตซาน ทำให้เกิดโครงการวิจัยต่าง ๆ ดังนี้
- โครงการนาโนไคโตซาน สำหรับควบคุมการปลดปล่อยยา
- โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ / ทดสอบสมบัติพื้นฐานของไคตินและไคโตซาน
- โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวกับไคติน - ไคโตซาน
- โครงการประยุกต์ใช้สารวัสดุชีวภาพไคติน - ไคโตซานกับการเกษตร
- โครงการการตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับการบำบัดน้ำเสียโดยใช้ไคโตซาน
- โครงการการผลิตโมโนเมอร์และโอลิโกเมอร์ของไคติน-ไคโตซานด้วยเอนไซม์
- โครงการเทคโนโลยีการทำแผ่นฟิล์มและเมมเบรนจากไคโตซาน
- โครงการยีนและเอนไซม์เทคโนโลยี
- โครงการประยุกต์ใช้ไคโตซานในอุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งทอ
ดร.ปราณี เลิศสุทธิวงศ์ นักวิจัยจาก ศูนย์วัสดุชีวภาพไคติน — ไคโตซาน สถาบันวิจัยและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาคารสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ชั้น 10) กล่าวว่า ในวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ทางโครงการจะได้จัดให้นักวิจัย 15 คนจากหลายมหาวิทยาลัยมาเสนอผลงานในสาขาต่าง ๆ ที่มีการประยุกต์ใช้ ไคติน — ไคโตซาน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. สามารถติดต่อ ดร.ปราณี เลิศสุทธิวงศ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-4219 หรือมือถือ 01-843-2555 หรือเว็บไซต์ www.material.chula.ac.th/chitosan/CCB.htm
การจัดประชุม วทท. นี้มีการจัดทุกปี โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เป็นเจ้าภาพร่วมกับสถาบันแต่ละแห่งเวียนกันไปเรื่อย ๆ ทุกปี บางครั้งมีการจัดงานที่ต่างจังหวัด บางครั้งจัดงานที่กรุงเทพฯ โดยสมาคมฯ มีนโยบายที่จะให้ประโยชน์และให้โอกาสแก่สถาบันแต่ละแห่งได้ร่วมกันจัด
การจัดงาน วทท. ทุกครั้งที่ผ่านมาและครั้งนี้ด้วย ล้วนมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญก็คือ หากมีการจัดงานเช่นนี้จะเป็นการกระตุ้นให้สถาบันแต่ละแห่ง มีการผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ออกมารับใช้สังคม อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้สัมผัสวิทยาการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นแนวทางอันหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้เราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด
ผู้สนใจจะเข้าฟังรายละเอียดของโครงการวิจัยไคติน-ไคโตซานได้ ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 30 ในวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันจัดเพื่อเฉลิมฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.stt.scisoc.or.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ