กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สกว.
นักวิจัย ม.เกษตรสร้าง “เครื่องย่อยยาง” ส่งเสริมการนำยางกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หนุนทั้งพาณิชย์และสิ่งแวดล้อม
(สามารถดาวโหลดข่าวและภาพได้ที่ http://pr.trf.or.th/news/question.asp?gID=231 ค่ะ)ไทยเป็นประเทศที่มียอดการผลิตยางมากที่สุดในโลก แต่กลับมีรายได้ที่เกิดจากผลผลิตยางเข้าประเทศต่ำเนื่องจากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำยังมีน้อย การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในรูปแบบต่างๆเพื่อเพิ่มมูลค่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจุบันจึงมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ยางแพร่หลายขึ้น แต่เมื่อใช้งานจนหมดอายุแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านั้น กลับถูกทิ้งโดยไม่ผ่านกระบวนการกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากยางเหล่านั้นได้สูงสุดและยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา
โครงการ “การออกแบบและประดิษฐ์เครื่องย่อยยาง” โดย ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกลและรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม(RDIPT) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จึงนำเสนอแนวทางการนำผลิตภัณฑ์ยางกลับมาใช้ใหม่ซึ่งกระบวนการนี้ได้ถูกคิดค้นและพัฒนามาเป็นเวลานานแล้ว แต่เครื่องจักรที่ใช้ในปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูงและส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นการออกแบบและประดิษฐ์เครื่องย่อยยางต้นแบบนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา
โดยงานวิจัยนี้เป็นการนำเสนอ กระบวนการนำยางมาผ่านเครื่องย่อยให้ได้เป็นเศษเล็กๆซึ่งชิ้นงานที่ถูกบดออกมาจะมีขนาดขึ้นกับประสิทธิภาพเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต หลังจากนั้นชิ้นยางที่ถูกย่อยแล้วจะถูกนำไปผสมกับยางใหม่หรือสารเคมีต่างๆเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ยางหล่อดอกรถยนต์ อิฐบล็อกยาง แผ่นปูสนามเด็กเล่น แผ่นกันลื่นในห้องน้ำ ฯลฯ
เครื่องย่อยยาง ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ยังได้ออกแบบโดยคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดเฉือนยาง ได้แก่ ชนิดของวัสดุ มุมการตัดของใบมีด ความเร็วรอบจานตัด ขนาดและคุณสมบัติของชิ้นงานที่นำมาย่อย รวมถึงกำลังของมอเตอร์ในการขับ จากการทดสอบตัดชิ้นยางที่ใช้มีดซึ่งทำมาจากเหล็ก AISI1020CD ทั้งสิ้น 141 ใบ โดยแต่ละใบมีมุมตัด 60 องศาและความเร็วรอบที่เพลาขับและเพลาตาม 50 และ 30 รอบต่อนาทีตามลำดับ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 7.5 แรงม้า ชุดทดเกียร์และโซ่ ในการส่งกำลัง โดยใช้ชิ้นงานตัวอย่างเช่น ยางอัดดอก ยางรถจักรยาน หรือยางจักรยานยนต์และพบว่า ใน หนึ่งรอบการทำงาน ขนาดของชิ้นงานหลังจากถูกย่อยแล้วจะมีขนาดพื้นที่หน้าตัดของชิ้นงานยางลดลงประมาณ 93 %สำหรับยางอัดดอกและยางรถจักรยาน และ52%สำหรับยางรถจักรยานยนต์ โดยมีอัตราเร็วเฉลี่ยในการตัดประมาณ 90 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเครื่องย่อยยางต้นแบบที่ออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจเมื่อพิจารณาทั้งในด้านขนาดของชิ้นงานที่ลดลงและอัตราการย่อยชิ้นงาน แม้เครื่องจักรที่คณะวิจัยออกแบบนั้นสามารถใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพดีระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อบกพร่องบางประการจากความเที่ยงตรงของขนาดใบมีดที่ใช้สำหรับตัดเฉือนซึ่งมีผลกับการประกอบเครื่องจักร และการย่อยชิ้นงาน
คณะวิจัย จึงได้เสนอแนวทางปรับปรุงและพัฒนาเพื่อจะทำการปรับปรุงเครื่องย่อยยางให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยให้มีขนาดของเศษยางที่ได้จากการย่อยที่เล็กลงเพื่อประโยชน์ใช้งานได้จริงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น หากนำไปใช้งานในระดับรากหญ้าต้องคำนึงถึง ราคา ความง่ายและสะดวกในการใช้งาน อายุการใช้งานของเครื่อง การดูแลรักษาและการซ่อมแซม เป็นต้น หรือหากเป็นระดับอุตสาหกรรมต้องปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ประกอบการ มีความสามารถในการเดินเครื่องต่อเนื่องได้ยาวและอายุการใช้งานของใบมีดตัดยาวนานขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการใช้งานของเครื่องได้สูงสุดทั้งในเชิงพาณิชย์และสิ่งแวดล้อมต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห/อบ)--