กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--Market-Comms
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ หรือ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ (Chiang Mai Thailand, The International Convention and Exhibition Centre : Commemorating His Majesty’s 7th Cycle Birthday Anniversaryหรือ CMICE) เตรียมพร้อม ชูจุดศูนย์กลางสำคัญอุตสาหกรรมเมืองแห่งไมซ์ (MICE City Centre) รองรับตลาดหลักในประเทศ ตั้งเป้าดึงงานจากสมาคมและสมาพันธ์ต่างประเทศสู่เชียงใหม่ สนองนโยบายรัฐดันไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย ในปี 2559
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเสกสรร นาควงศ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ว่า “ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2558 และนโยบายภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการกีฬา โดยรัฐบาลให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของธุรกิจไมซ์ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลสำรวจจาก IPK International’s World Travel Monitor พบว่ามีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ของการเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศโดยภาพรวมทั่วโลก (Global outbound travel) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประวัติการณ์ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสึนามิในญี่ปุ่น น้ำท่วมในประเทศไทย การปฏิวัติในอาหรับ หรือวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ก็มีการฟื้นตัวกันอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันตลาดไมซ์ของไทยมีส่วนแบ่งตลาด 9.79% จากตลาดการท่องเที่ยวของประเทศ และสามารถจำแนกประมาณการณ์รายได้จากตลาดไมซ์ตามประเภทธุรกิจ โดยแบ่งสัดส่วนเป็นการจัดประชุมนานาชาติ ประมาณร้อยละ 42 คิดเป็นมูลค่า 25,142 ล้านบาท การประชุมองค์กร ร้อยละ 28 มูลค่าประมาณ 16,721 ล้านบาท และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ร้อยละ 17 มูลค่า 10,328 ล้านบาท ตลอดจน อุตสาหกรรมแสดงสินค้านานาชาติร้อยละ 13 มูลค่า 7,929 ล้านบาท”
สำหรับแนวคิดต่อการเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ ภายในภูมิภาคอาเซียน จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน เป็นจุดเชื่อมต่อทางธุรกิจต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ (Logistics Hub) เช่น พม่า ลาว ฮ่องกง มาเก๊า ไทเป เซิ่นเจิ้น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ซึ่งมีธุรกิจทางการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการแพทย์ (Medical Hub) ด้านการศึกษา (Education Hub) และด้านงานหัตถกรรม (Handmade Hub) อีกด้วย โดยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงระบบการขนส่งคมนาคม และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ เป็นต้น
การเปิดบริการของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ และ นโยบายผลักดันเชียงใหม่เป็นนครแห่งไมซ์ จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่เติบโตมากกว่าปกติ ที่จะโตเฉลี่ยปีละ 7-10% ก็จะเติบโตเป็นปีละไม่น้อยกว่า 10-15% จากปี พ.ศ. 2554 โดยที่ผ่านมา เชียงใหม่มีการจัดงานด้านไมซ์ จำนวน 427 ครั้ง มีจำนวนนักเดินทางกว่า 6 หมื่นคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.35 พันล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 1.9 หมื่นคน มูลค่ากว่า 82 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศกว่า 4.07 หมื่นคน สร้างรายได้กว่า 3.27 พันล้านบาท
สำหรับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพิ่มศักยภาพให้เชียงใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองแห่งไมซ์ของประเทศหรือ MICE City โดยเชียงใหม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมทั้ง เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมธุรกิจไมซ์ของประเทศสู่ระดับนานาชาติ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่าน 4 อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้แก่ Meeting ธุรกิจการจัดประชุม: Incentive ธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล Convention ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ และ Exhibition ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า/นิทรรศการ
จุดเด่นของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ มีความสามารถในการรองรับงานในระดับนานาชาติและระดับชาติ ได้พร้อมกันมากถึง 10,000 คนศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 335 ไร่ หรือ พื้นที่รวม 420,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่จัดงานภายในอาคารกว่า 60,000 ตารางเมตร พื้นที่จัดงานภายนอกอาคารกว่า 7,400. ตารางเมตร และที่เหลือเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะอีกกว่า 365,000 ตารางเมตร ถือได้ว่า เป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาค ภายใต้ความรับผิดชอบของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่แห่งนี้ สามารถดัดแปลง เพื่อการจัดงานได้หลากหลาย เช่น การจัดงานทางวัฒนธรรม งานนโชว์ งานคอนเสิร์ต ต่างๆ โดยเทคโนโลยีการก่อสร้างห้องจัดแสดง (ที่ไม่มีเสา) เช่นเดียวกับ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของ ศูนย์ประชุมฯ ยังมีความโดดเด่น ทั้งในด้านการขนส่ง การเดินทาง ด้วยรถไฟ เครื่องบิน และรถยนต์ อีกทั้งบรรยากาศสวยงามแวดล้อมไปด้วยทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติ ห้อมล้อมด้วยภูเขา อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ที่พัก โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร ต่างๆ รวมทั้งใกล้กับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มากมาย อาทิ ม่อนแจ่ม ปางช้างแม่สา สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติสวนสัตว์ จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ไนท์ซาฟารี เป็นต้น
นายเสกสรร นาควงศ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงแผนการบริหารและการตลาดว่า “จากการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรี ได้มติเห็นชอบ จัดตั้ง “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร” ในรูปแบบองค์การมหาชน โดยรวม เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ด้วยกัน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี เริ่มมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดเชียงใหม่ มากที่สุด ซึ่งตามแผนงานดังกล่าว สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) จะพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนาธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา ที่มีคุณภาพสูง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ และทำหน้าที่บริหารพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นต้นแบบต่อไป”
สำหรับแผนการตลาดในช่วงแรก เน้นกลุ่มเป้าหมายในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 อาทิ การจัดงานจากหน่วยงานภาครัฐ หอการค้าทั่วประเทศ สมาคมที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนที่จัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น และกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศร้อยละ 10 อาทิ การจัดงานจากสมาพันธ์งานแสดงสินค้าโลก UFI: Union des Foires Internationale สมาคม IAEE : International Association of Exhibitions and Events และสมาคม ICCA: International Congress and Convention Association โดยใช้กลยุทธ์สร้างการรับรู้ (Promotion) ผ่านการจัดกิจกรรม Fam Trip, Tradeshow, Roadshow และการพัฒนาตลาดผ่านเครือข่ายต่างๆ อาทิ สมาคม สมาพันธ์ หอการค้า ที่เป็นสมาชิก ตลอดจนช่องทางการสื่อสารในระบบออนไลน์ที่จะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายดึงผู้เดินทางเข้ามาประชุมฯ ควบคู่กับกลยุทธ์สร้างความร่วมมือ (Participation) กับภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น และระดับนานาชาติ
“ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ยังมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ด้านทำเลที่ตั้ง รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี (ประมาณการณ์ปี พ.ศ. 2555) ประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งครอบคลุมตลาดหลักในย่านอาเซียนกว่า 3 พันล้านคน ด้วยเวลาการเดินทางไม่เกิน 7 ชั่วโมง และมี 16 สายการบินที่บินจากเชียงใหม่ไปยัง 175 จุดทั่วโลก นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2556 นโยบาย โมเดิร์น ไทยแลนด์ ของรัฐบาลที่เน้นการสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจ และการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยการนำเสนอประเทศไทยในฐานะประตูสู่อาเซียน จุดเชื่อมต่อสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ และความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่มีจำนวนผู้เดินทางมาประชุมสูงสุด 5 อันดับแรกของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป อาทิ สหพันธรัฐเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย อันเป็นตลาดเดิม” นายเสกสรร กล่าวสรุป