ที่ประชุมเอเปคเผย WHOอัดฉีดเงินลดอัตราตายแม่และเด็กแรกเกิด

ข่าวทั่วไป Wednesday November 21, 2012 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ TCELS ผู้ประสานงานหลักการประชุมเอเปค ระบุ UN ขีดเส้นปี 2015 ต้องลดอัตราเด็กแรกเกิดตาย 2 ใน 3 และของมารดา 3 ใน 4 ชี้กลุ่มประเทศในแถบเอเชียใต้ และหมู่เกาะต่าง ๆ ครองแชมป์ตายเยอะสุด ขณะที่ไทยรอดไม่ติดโผประเทศมีปัญหา WHO เตรียมอัดฉีดเงินกู้วิกฤติชีวิตแม่และเด็กเทียบเป็นเงินลงทุนและผลที่ได้รับ นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปร่วมประชุม The Asia-Pacific Leadership and Policy Dialogue for Women’s & Children’s Health ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในฐานะที่ TCELS ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานหลักเอเปคทางด้านชีววิทยาศาสตร์ APEC Life Sciences Innovation Forum) โดยในที่ประชุมให้ความสำคัญเรื่อง เครือข่ายสุขภาพสตรีและเด็ก เนื่องจากหลายประเทศยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข กล่าวคือ อัตราการตายของแม่และเด็กแรกเกิดมีสูง แม้ว่าสหประชาชาติ (UN) จะประกาศมาตั้งแต่ปี 2543 แล้วก็ตาม ว่า ในปี 2558 จะต้องลดอัตราการตายของเด็กแรกเกิดให้ได้ 2 ใน 3 และลดอัตราการตายของแม่ให้ได้ 3 ใน 4 ซึ่งจนถึงขณะนี้หลายประเทศก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง “จากปัญหาดังกล่าว WHO จึงอาสาเป็นเจ้าภาพใหญ่ร่วมกับหน่วยงานให้ทุนหรือสถาบันการเงินหลายแห่ง อาธิ USAID, AusAID, ADB ฯลฯ ศึกษาในรูปแบบของการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากสามารถลดอัตราการตายของแม่และเด็กได้ ซึ่งถือเป็นมาตรการการแก้ไขปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง” ผอ. TCELS กล่าว นายนเรศ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงการดูแลแม่และเด็กโดยองค์รวม ครอบคลุมตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ หลังคลอด ไปจนถึงการให้วัคซีนต่าง ๆ แก่เด็ก รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กมีจำนวน 11 :1000 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำและอยู่ในระดับที่ WHO กำหนดมาตรฐานไว้ สำหรับกลุ่มประเทศที่เข้าข่ายอัตราการเสียชีวิตสูง ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบเอเชียใต้ และประเทศในหมู่เกาะต่าง ๆ นอกจากนี้จากการประชุมได้พูดถึง 4 องค์ประกอบหลักในการลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กคือ 1. ในเรื่องของการลงทุน คือ ให้ลงทุนในเรื่องของระบบประกันสุขภาพ เช่น จีน ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามการลดจำนวนแม่และเด็กที่เสียชีวิตนั้นไม่เพียงแค่การลงทุนในระบบประกันสุขภาพเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงการดูแลในเรื่องของโภชนาการของแม่และเด็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการเสียชีวิตด้วย 2. ในส่วนของการดำเนินการ เน้นการให้บริการที่มีคุณภาพ การประชาสัมพันธ์ให้ครอบครัว รวมถึงให้ความรู้แม่ให้เข้าถึงการให้บริการในระบบประกันสุขภาพ 3. ความรับผิดชอบ ในส่วนของสิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม และ 4.จัดระบบการให้บริการสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการดูแลที่ถูกต้องและต่อเนื่อง นายนเรศ กล่าว ติดต่อ: www.tcels.or.th, 02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ