กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ยกระดับความปลอดภัย ปรับปรุงระบบจราจรเมืองพัทยา พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค
คณะผู้เชี่ยวชาญไอบีเอ็มเสนอผลสรุปโครงการสมารท์เตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชลบุรีแก่คณะผู้บริหารระดับสูงจากจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา และท่าเรือแหลมฉบัง
จากการลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เจ้าหน้าที่จังหวัด เมืองพัทยา และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสำรวจบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาส่วนต่างๆ ทีมงานผู้บริหารระดับสูงจากไอบีเอ็มทั่วโลก 5 ท่าน ได้นำเสนอผลสรุปและแผนยุทธศาสตร์ในโครงการสำคัญ 2 โครงการแก่ผู้บริหารระดับสูงจากจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา และท่าเรือแหลมชะบัง คือ 1. โครงการพัฒนาการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยสาธารณะและระบบจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายในเมืองพัทยา และ 2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโลจิสติกส์สำหรับท่าเรือแหลมฉบังเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งภูมิภาค
ผลสรุปโครงการและแผนงานสำหรับเมืองพัทยาและท่าเรือแหลมฉบัง
เพื่อต่อยอดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมืองพัทยาในการพัฒนาเมืองพัทยาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และเพื่อให้พัทยาเลื่อนอันดับ “สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก” จากลำดับที่ 12 เป็นลำดับที่ 5 ไอบีเอ็มได้นำเสนอแผนงานในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และผู้นำภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันกำหนดลำดับความสำคัญของความต้องการต่างๆ ของเมือง และนำเทคโนโลยีระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ หรือ analytic มาใช้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบด้าน ในเรื่องการคมนาคมขนส่ง การดูแลรักษาความปลอดภัย และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ หรือ predictive analytic จะช่วยให้เมืองพัทยาสามารถคาดการณ์ถึงสิ่งที่เมืองจำเป็นต้องทำและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของท่าเรือแหลมฉบังในการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและเป็นประตูสู่ประเทศต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ทีมงานของไอบีเอ็มได้เสนอแผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและคุณภาพการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถคาดการณ์และตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการในระยะยาว โดยระบบดังกล่าวจะช่วยระบุและวิเคราะห์รูปแบบของความหนาแน่นและการจราจรในการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ และกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งภายในท่าเรือ
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ทีมงานของไอบีเอ็มรู้สึกประทับใจอย่างมากต่อวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยาและท่าเรือแหลมฉบัง และรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดและแผนยุทธศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้จังหวัดชลบุรีสามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไอบีเอ็มเชื่อมั่นว่าชลบุรีมีศักยภาพที่สูงมากและเป็นหนึ่งในเมืองที่ไอบีเอ็มให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคด้วยการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น เป้าหมายในการพัฒนาที่จังหวัดตั้งไว้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”
โครงการสมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์
ชลบุรีเป็นหนึ่งใน 140 เมืองทั่วโลกที่ได้รับรางวัลภายใต้โครงการสมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ ในปี 2555 ไอบีเอ็มได้เลือกสรร 33 เมืองทั่วโลกให้ได้รับการสนับสนุนในโครงการสมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ และชลบุรีเป็นหนึ่งเมืองที่ได้รับการคัดเลือกพร้อมกับเมืองอื่นๆ ในอาเซียนอีก 3 เมือง
โครงการ "ไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์" (Smarter Cities Challenge) เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554 เป็นโครงการเพื่อสังคมที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเมือง 100 เมืองทั่วโลกให้เป็นเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืน โครงการนี้นับเป็นโครงการเพื่อสังคมของไอบีเอ็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยทางไอบีเอ็มจะสนับสนุนด้วยการส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการศึกษาและให้คำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ในแต่ละเมืองที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ปัญหาเรื่องการคมนาคมขนส่ง สาธารณสุข ที่พักอาศัย การพัฒนาเศรษฐกิจ และความปลอดภัยของประชาชน จากนั้นทีมงานของไอบีเอ็มจัดทำแผนงานรอบด้านสำหรับโซลูชั่นที่สร้างสรรค์ และนำเสนอแก่ผู้บริหารของเมืองนั้นๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่เกิดขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ซิตี้ส์ ชาเลนจ์ ได้ที่ http://smartercitieschallenge.org/
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ปิยานุช ทองเจียม
โทร : 02 273 4416
อีเมล์: piyanute@th.ibm.com