กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--โรงไฟฟ้าราชบุรี
เมื่อเร็ว ๆ นี้(อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2555) เวลา 08.30 — 13.30 น. บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด (ซีเทค) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ณ อาคารอเนกประสงค์ตำบลสามเรือน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
นายสมศักดิ์ ทองแก้ว ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด(ซีเทค) เปิดเผยว่า การจัดเวทีดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ.2553 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (PDP 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ประมาณการว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 70,847 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2573 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว กกพ. จึงได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้าประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ขึ้น โดยกำหนดให้เริ่มทยอยจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2569 ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรี กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะสิ้นสุดลงใน ปี พศ. 2568 - 2570 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า
“โรงไฟฟ้าราชบุรี มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ตั้ง ระบบสายส่งไฟฟ้า แหล่งนํ้า ท่อส่งนํ้า ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตไฟฟ้า ที่เปิดดำเนินการในปัจจุบันอยู่แล้ว ดังนั้น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจโรงไฟฟ้าราชบุรี จึงได้พิจารณาที่จะเข้าร่วมการประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่สิ้นสุดอายุสัญญาในปี พ.ศ. 2568 - 2570 โดยได้มอบหมายให้ บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ซีเทค กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ เย็นอ่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นนี้ มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการประชุม/หารือ แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อขอบเขตการศึกษา EHIA อันจะทำให้การพัฒนาโครงการมีการพิจารณาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน ทำให้การพัฒนาโครงการเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2552 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
“สำหรับการศึกษาฯ ครั้งนี้มีระยะเวลาการศึกษาและจัดทำรายงานฯ ประมาณ 8 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 — เมษายน 2556 การจัดเวทีฯ ในวันนี้ เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีผู้มีส่วนได้เสียให้ความสนใจและรับฟังประมาณ 1,200 คน ทั้งนี้ จะวางแผนดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ศึกษา พร้อมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ประมาณเดือนมกราคม 2556 และจะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนทบทวนร่างรายงานฯ (Public Review) ประมาณเดือนเมษายน 2556“ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว