กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สำนักงาน กสทช.
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มาบอกเล่าถึงปัญหา ข้อเสนอแนะ สะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัด และอุปสรรคในด้านการสื่อสาร การเข้าถึงบริการสาธารณะทางด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อที่ทาง กสทช. จะได้มีข้อมูล รับทราบถึงปัญหา อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดแนวทางและวิธีการลดปัญหาเหล่านั้น
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า การจัดเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ครั้งนี้จัดที่จังหวัดเชียงราย เพื่อรับทราบประเด็นปัญหาและอุปสรรคด้านการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูล และการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม ในพื้นที่การพัฒนาร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จากผู้ประสบปัญหาในพื้นที่จริง รวมถึงมุมมองเชิงวิชาการ และมุมมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนภายใต้บทบาทของ กสทช. โดยใช้หัวข้อ “สิทธิและโอกาสด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของประชาชนในพื้นที่การพัฒนาร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” เรามาเพื่อค้นหาคำตอบที่จะนำมาซึ่งกระบวนการรับรู้และเข้าถึงการสื่อสารและข่าวสารของประชาชน คำตอบที่แท้จริงเราต้องเดินเข้ารับรู้ข้อเท็จจริงและปัญหา ความต้องการ เพื่อให้การสร้างกระบวนการกำกับดูแลตรงกับความต้องการและจุดมุ่งหวังการพัฒนา
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ซึ่ง กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงได้บรรจุไว้ทั้งในส่วนของวิสัยทัศน์ พันธะกิจ และเป้าประสงค์ของแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียมและรู้เท่าทัน รวมถึงการมุ่งเน้นให้มีการลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่าผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็ประสบกับปัญหาในการสื่อสารถึงกัน เห็นได้จากผลสำรวจของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เดิม หรือปัจจุบันคือ กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ศึกษาวิจัยเรื่องความตระหนักรู้และความพึงพอใจของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นเรื่องการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มชนเผ่า เมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประสบปัญหาโทรศัพท์สาธารณะไม่เพียงพอต่อการใช้งานหรือมีอยู่แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ปัญหาไม่สามารถเข้าถึงโทรศัพท์บ้าน และปัญหาไม่สามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือเนื่องจากไม่มีสัญญาณ โดยในพื้นที่ห่างไกลจะประสบกับปัญหารุนแรงกว่าพื้นราบ โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุฉุกเฉิน
นางสาวสุภิญญา กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนให้ผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทุกกลุ่มมีความเข็มแข็ง รู้เท่าทันสื่อ สามารถปกป้องสิทธิของตนเอง และสามารถเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ กสทช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในวันนี้ได้เห็นถึงภาพรวมปัญหาการเข้าถึงและความเท่าเทียมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของคนชายขอบในภาคเหนือ และประเด็นที่ยังขาดความพร้อมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่จำเป็นกับการแข่งขันในประชาคมอาเซียนจะได้นำไปในการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมหรือเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ในการสัมมนาเราได้รับทราบข้อมูลในหลายด้าน เช่น ปัญหาที่พบคือ คุณภาพบริการมีมือถือแล้วแต่คุณภาพไม่ดี ไม่มีการมาตั้งสถานี โทรทัศน์ก็ต้องรับจากดาวเทียมพอมีการถ่ายทอดก็ดูไม่ได้ จึงเป็นภาวะจำยอมอย่างที่ไม่มีทางเลือก อยากเสนอให้ กสทช. ให้งบประมาณในการลงทุนตั้งเสาสัญญาณสื่อสาร ให้คนในพื้นที่ห่างไกลติดต่อสื่อสารได้รวมถึงในภาวะวิกฤต เพื่อดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างแท้จริง
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ได้แก่ ชาติพันธ์ที่อยู่บนพื้นที่สูงในประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธ์และพลเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานในประเทศไทย ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ เช่น พม่า ลาว และจีน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในบริเวณพื้นที่ชายแดนที่เดินทางข้ามพรมแดนรัฐชาติ ในอนาคตอันใกล้ของการก้าวสู่ AEC การเคลื่อนไหวของผู้คนและข้อมูลข่าวสาร จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความปกติมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานด้านการกำกับดูแลอย่าง กสทช. ได้มีโอกาสมารับฟังสถานการณ์จากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เป็นนักวิชาการนักพัฒนา และผู้ประกอบการในพื้นที่โดยตรง
โดยการเสวนาสาธารณะในครั้งนี้มี วิทยากรนำประเด็นเสวนาสาธารณะเรื่อง “การเข้าถึงและความเท่าเทียมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของคนชายขอบ” ประกอบไปด้วย ดร. มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณนันทา เบญจศิลารักษ์ สำนักข่าวประชาธรรม คุณสมภพ จันทรากา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน จังหวัดเชียงราย คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน เว็บ Bannok.com คุณจุฑามณี อารียะ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ (MAP) คุณสุพจน์ หลี่จา มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา คุณธีรวัฒน์ พิทักษ์ไพรศรี มูลนิธิพัฒนาลุ่มน้ำคำ ดำเนินการเสวนาโดย คุณชาญวิทย์ โวหาร กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. และวิทยากรนำประเด็นเสวนาสาธารณะเรื่อง “ก้าวสู่ AEC : ความพร้อมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบน” ประกอบด้วย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ฐิติพงศ์ ไชยองค์การ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย คุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย คุณหมี่จู มอเลกู สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาใน ประเทศไทย (IMPECT) คุณธีรชัย พิทักษ์ไพรศรี มูลนิธิพัฒนาลุ่มน้ำคำ คุณโยธิน เดชโชติภักดี ชุมชนพัฒนาลุ่มน้ำคำ ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์สุทัศน์ คล้ายสุวรรณ์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ก่อนหน้านี้เวทีเสวนา NBTC Public Forum ทั้ง 9 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ มุมมองผู้บริโภคและพลเมืองต่อแผนแม่บท กสทช. ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ แนวทางการคุ้มครองผู้บรโภคในโฆษณาวิทยุและโทรทัศน์ยุค กสทช. ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ธุรกิจผ่าน sms … แค่ไหนที่ไม่เอาเปรียบ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ บอลยูโรกับเกมพนันบนหน้าจอ-หน้าปัด การรู้เท่าทันของผู้บริโภคและความรับผิดชอบของสื่อ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ การสื่อสารในภาวะพิบัติกับบทบาท กสทช. ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ สัมปทานบริการมือถือสิ้นสุดฯ ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์กับผู้บริโภคสื่อในยุคดิจิตอล ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ ส่งเสริมสิทธิการสื่อสารเพื่อคนพิการในยุคดิจิตอล และครั้งที่ 9 ในหัวข้อ ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต : ไทยควรมีท่าทีอย่างไร ก็ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมด้วย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241