กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้
“การบูรณาการใดก็ตามไม่ควรแลกมาซึ่งการทำลายสิ่งแวดล้อมและริดรอนสิทธิมนุษยชน”กลุ่มเยาวชนอาเซียนกล่าวก่อนพิธีการเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลุ่มเยาวชนอาเซียนยังเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดทำแนวปฎิบัติในด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมร่วมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในยุคแห่งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กลุ่มสมาคมเยาวชนเขมร กลุ่มศูนย์รวมประชาชนเพื่อการพัฒนาและสันติ และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมทำพิธีทางศาสนาสวดมนต์หน้าอนุสาวรีย์วิมานเอกราชกลางกรุงพนมเปญ ทั้งนี้นักกิจกรรมรณรงค์ได้มีการแสดงป้ายส่งสาส์นข้อความถึงผู้นำชาติอาเซียนให้หันมาสนใจประเด็นสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุยษยชน โดยป้ายดังกล่าวมีข้อความว่า “สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษยชน (Human Rights = Environmental Rights)”
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งภูมิภาคของโลกที่มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาดังกล่าวไม่ควรต้องแลกกับการริดรอนสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องให้ผู้นำประเทศในอาเซียนตระหนักถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้าถึงน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และการมีสิ่งแวดลอมที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิมนุษยชนเช่นกัน” นาย ยง คิม อัง ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนเพื่อการพัฒนากล่าว
“ปัจจุบันนี้ประเทศกัมพูชาสูญเสียพื้นที่ป่าไปมากจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่และสัมปทานตัดไม้ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการทำลายป่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก แม้ว่าการตัดไม้ทำลายป่าเหล่านี้จะเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศแต่ผลกระทบของเรื่องดังกล่าวนั้นมีผลต่อชาติอื่น ๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้เองเราจึงแนะนำให้กลุ่มประเทศอาเซียนใช้มาตราการจัดการสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นมิตรและจัดทำการประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศให้เป็นหนึ่งหลักการที่เตรียมพร้อมกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นาย ยง คิม อัง กล่าว
“นอกจากนี้ ที่ประชุมควรมีการหารือถึงมาตราการเกี่ยวกับการปกป้องสภาพภูมิอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลมาจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นของภูมิภาคและในประเทศกัมพูชาเอง ซึ่งหนึ่งในมาตรการนั้นก็คือการยุติการใช้พลังงานสกปรกที่ได้มาจากถ่านหิน ในฐานะเยาวชนพวกเราขอสวดมนต์เรียกร้องให้ผู้นำในภูมิภาคของเราสร้างความมั่นใจว่าอนาคตที่ดีต้องมาจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ” นาย ชามเริง มาก ประธานสมาคมเยาวชนเขมรกล่าว
การประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพิจารณาแผนการปฏิบัติร่วมกันของสิบประเทศเพื่อนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2558 ซึ่งแผนดังกล่าวครอบคลุมถึงการสร้างสะพาน ถนน โรงไฟฟ้า และระบบอินเตอร์เนตเพื่อเชื่อมสิบประเทศเข้าไว้ด้วยกัน การใช้หนังสือเดินทางร่วมกัน เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ความรู้ระหว่างกัน และยังรวมไปถึงการพัฒนาด้านธุระกิจและกิจกรรมต่างๆ ภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น
การประชุมผู้นำอาเซียนทั้งสิบประเทศในครั้งนี้คาดว่าจะมีการลงนามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกรอบการทำงานภายใต้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก่อนหน้านี้ร่างปฏิญญาดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มภาคประชาสังคมเพราะหลักการในปฏิญญาดังกล่าวไม่ครอบคลุมตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ แต่เรื่องขาดตกบกพร่องดังกล่าวไม่ควรนำมาเป็นข้อแก้ตัวในการที่จะไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องว่าด้วยเรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนอาเซียนในระหว่างการเตรียมการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กลุ่มสมาคมเยาวชนเขมร กลุ่มศูนย์รวมประชาชนเพื่อการพัฒนาและสันติ และกรีนพีซ เรียกร้องให้ผู้นำประเทศอาเซียนนำวาระดังกล่าวเข้าหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างมาตรฐานสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติภายใต้กรอบ คุ้มครอง เคารพ และ เยียวยา
จากการศึกษาพบว่าหากไม่มีมาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งคุ้มกัน การพัฒนาไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผลกระทบวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สถาบันพลังงานเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นคาดการณ์แนวโน้มการพัฒนาในปัจจุบันว่าภายในปี พ.ศ. 2573 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกันของกลุ่มประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.5
“การมาเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าในการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนต้องใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในเรื่องดังกล่าวกับประเทศที่อ่อนไหวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นาง เซลดา โซริยาโน เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว และยังกล่าวต่อไปว่า “หากเรื่องนี้ไม่มีการประชุมหารือในที่ประชุมอย่างเร่งด่วน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
ข้อมูลแนบท้าย
กลุ่มสมาคมเยาวชนเขมร กลุ่มศูนย์รวมประชาชนเพื่อการพัฒนาและสันติ และกรีนพีซ มีข้อเรียกร้องคือ
- ภายใต้กรอบ “หน้าที่ของรัฐต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” รัฐบาลอาเซียนควรส่งเสริมนโยบาย กฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่ทำร่วมกันในหน่วยงานภาคธุรกิจว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
- “หน้าที่ของบรรษัทในการเคารพสิทธิมนุษยชน” อาเซียนต้องจัดทำแผนงานสำหรับบริษัทในเรื่องการรู้และแสดงความเคารพด้านสิทธิมนุษยชน
- “การเข้ารับการเยียวยา” กฏดังกล่าวให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นที่ว่าหากประชาชนได้รับอันตรายจากการทำกิจกรรมทางธุรกิจ ภาคธุรกิจควรจะมีมาตรการรองรับที่เพียงพอทั้งสองด้านคือด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการตอบแทนที่สมเหตุสมผล รวมทั้งความเป็นธรรมและความไม่เป็นธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน