กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า อิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นวีเซนเต ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนล้นตลิ่ง เช่น ลำน้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง วัดได้ 10.07 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 0.07 เมตร อ.กงไกรลาศ วัดได้ 9.79 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 0.79 เมตร และพิษณุโลก ในพื้นที่ อ.บางระกำ วัดได้ 41.93 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 0.93 เมตร และระดับน้ำในลำน้ำปิง ที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดได้ 4.71 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 1.01 เมตร และ ยังได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหาย ใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เลย ลำปาง ศรีสะเกษ อุตรดิตถ์ แพร่ อ่างทอง กรุงเทพฯ ลำพูน และพะเยา ส่งผลให้ประชาชนที่ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
นายสุนทร กล่าวต่อถึงสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละจังหวัดว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ประสบภัย รวม 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง , อ.หางดง , อ.พร้าว, อ.สันทราย, อ.เชียงดาว, อ.แม่แจ่ม , อ.ฝาง, อ.แม่อาย , อ.สันป่าตอง โดยน้ำจากลำน้ำสายน้ำต่างๆ ได้เอ่อล้น และน้ำป่าได้ไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ น้ำในลำน้ำปิง ได้เอ่อเข้าท่วมชุมชนช้างคลาน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ,จังหวัดเลย มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงคาน , จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เถิน , อ.วังเหนือ, อ.เสริมงาม, อ.ห้างฉัตร และ อ.เมืองปาน , จังหวัดศรีสะเกษ ลมพายุได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ อ.ห้วยทับทัน, จังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 5,000 ไร่ ใน ต.ฝายหลวง อ.ลับ ได้รับความเสียหาย , จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.เวียงป่าเป้า , จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ อ.เมือง ได้รับความเสียหาย จากน้ำกัดเซาะคันกั้นน้ำ ได้รับความเสียหายประมาณ 100 เมตร และน้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร จำนวน 30 หลัง ในพื้นที่ ต.โผงเผง บ้านป่าโมก , จังหวัดแพร่ น้ำได้ไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่บริเวณทางรถไฟ ระหว่างสถานีห้วยไร่ — ปางต้นผึ้ง , กรุงเทพฯ ยังคงมีน้ำท่วมขังในเขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา โดยพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายนับแสนไร่ , จังหวัดลำพูน น้ำไหลเข้าท่วมถนนสาย อ.สารภี — ลำพูน , จังหวัดพะเยา น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่ม อ.ดอกคำใต้ ซึ่งจังหวัดที่สถานการณ์น้ำท่วมกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วจำนวน 2 จังหวัด คือ ระนอง และแม่ฮ่องสอน ในการนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว กรมป้องกันฯ ได้ประสานให้จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยระดมสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม และนำเครื่องจักรกลกวาดล้างทำความสะอาดถนน พร้อมจัดเตรียมถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม เรือท้องแบน และอุปกรณ์ที่จำเป็น สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย--จบ--