กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--แอนลีน
โรคกระดูกพรุนมักถูกเรียกว่า “มหันตภัยเงียบ” เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่จะเกิดสะสมในช่วงเวลาหลายๆ ปี จะรู้ตัวก็เมื่อกระดูกหักไปแล้ว ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหนึ่ง คือ การได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จนทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนักได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการกระดูกหักได้ง่ายเมื่อได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนพบมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยสูงอายุ หากไม่ดูแลสุขภาพกระดูกตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาวก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น
รศ. พญ. วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม “แอนลีน 1,000,000 Bone Scan ต้านภัยกระดูกพรุน” รณรงค์คนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพกระดูก ว่า “ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงช่วงอายุประมาณ 30 ปี ร่างกายคนเราจะมีกระบวนการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ดังนั้นในช่วงวัยนี้เราจึงควรสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุด และหลังจากที่มวลกระดูกสูงสุดในช่วงอายุ 30 ปีแล้ว การสลายกระดูกจะมีมากกว่าการสร้าง ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง ดังนั้นเราจึงต้องรักษามวลกระดูกไม่ให้ลดลงมากเกินไป ซึ่งวิธีการดูแลสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงทำได้โดยการรับประทานอาหารแคลเซียมสูงเพื่อให้ได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน เช่น การดื่มนมเป็นประจำ ประกอบกับการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เช่น การเดิน เล่นโยคะ เพื่อกระตุ้นการสร้างมวลกระดูก”
แพทย์หญิงวิไลกล่าวว่า “คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับโรคกระดูกพรุนเท่าที่ควร เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวแต่จริงๆ แล้วปัจจุบันมีสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น การเลือกรับประทานอาหาร ทำให้ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ที่มักไม่ค่อยดื่มนม หรือการมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้ออกกำลังกายน้อยลง”
“ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระดูกพรุนมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการเกิดโรคโดยการให้ความสนใจดูแลรักษาสุขภาพของกระดูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพียงรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพื่อให้ได้รับแคลเซียมเพียงพอ เช่น การดื่มนมเป็นประจำทุกวันเพื่อช่วยเติมเต็มแคลเซียมให้ร่างกาย การออกกำลังกายลงน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ งดปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายกระดูก เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
สนับสนุนข้อมูลโดย “แอนลีน” ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกระดูก