กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--FYI
ขณะที่แบรนด์นอกแข่งขันกันเติบโตอย่างอู้ฟู้อยู่ในเวทีโลกนั้น สินค้าในโครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) อันนับเป็นผลพวงจากการสืบสานต่อยอด ภูมิปัญญาไทยก็มิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการ จะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีความทันสมัยใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากหน่วยงานซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมเฉกเช่น สำนักงานส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็มุ่งมั่นเดินหน้าผลักดัน สินค้าไทยให้ก้าวไกลในเวทีโลก
เช่นเมื่อไม่นานมานี้ สสว. ได้จัดพิธีเปิดตัวโครงการ “OTOP PLUS+ รวมใจนำไทยสู่สากล” โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบ บูรณาการขึ้น ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ในงาน TCC EXPO ) สานต่อนโยบายเสริมสร้างโอกาสและพัฒนาความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อย่างมีบูรณาการ โดยได้รับความร่วมมือจาก หอการค้าไทย ในด้านการส่งเสริมการตลาด มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ ทั้งยังหวังเพิ่มโอกาสทางการตลาดรวมทั้งประสิทธิภาพกลไกและปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริม OTOP
โครงการ OTOP PLUS+ เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ของผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการตลาดเชิงรุกทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่าง ต่อเนื่องและมีมูลค่าเพิ่ม
ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ชนัญญา ดรเขื่อนสม จากร้าน ‘ ฅญา บาติก ’ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เล่าว่า…
“ดิฉันเริ่มทำผ้าบาติกจากผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กๆก่อนค่ะ ตอนแรกก็ขายได้ บ้างไม่ได้ บ้างก็พัฒนาชิ้นงานมาเรื่อยๆ จนกระทั่งทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ส่งไปออกบูธเป็น 1 ใน สินค้าโอทอปของโคราชก็ได้มีการต่อยอด งานของเราตอบโจทย์ดีไซน์เนอร์ที่มาร่วม ออกแบบได้ดี ปีแรกที่เข้าร่วมการคัดสรรเราได้เป็นโอทอป ระดับ 3 ดาวค่ะ ตอนนี้เป็น 4 ดาวแล้ว สินค้าของเราก็อย่างเช่น ผ้าพันคอไหมแก้วซึ่งมีความนุ่มเบา แล้วปีนี้ เราเน้นในเรื่องของผ้าผืน เพราะคิดว่าจะใช้งานได้หลากหลาย นอกจากนี้ก็มี เบาะนั่ง หมอน คอนเซ็ปต์งานของเรา คือ ก้อนหิน ต้นไม้ สายน้ำ ความเป็นอีสาน เราสื่อความเป็นธรรมชาติ เป็นอีสาน ดินแห้ง แตกระแหง เขียนลวดลายให้อิงกับธรรมชาติค่ะ ”
ด้าน สุรัตน์ บัวหิรัญ ตัวแทนจากกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด หมู่ 1 จ.นนทบุรี เปิดเผยบ้างว่า…
“งานดินเผาเป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ด เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด นนทบุรีเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นงานศิลปะไทยที่มีคุณค่า สืบทอด กันมาจากบรรพบุรุษ การได้มาออกบูธในงาน OTOP PLUS+ ก็เป็นเรื่องดีตรงที่ว่า เราได้เผยแพร่ วัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านเราได้กระจายรายได้สู่ชุมชน เพราะเราทำงานกันเป็นกลุ่มหัตถกรรม ครับ ไม่ได้ทำคนเดียว ก็ทำให้ชุมชนเรามีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยครับ ”
ไปร่วมกันสนับสนุนสินค้าอันเกิดจากความตั้งใจดีของคนไทยได้ในงาน “ OTOP PLUS+ รวมใจนำไทยสู่สากล ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน-23 ธันวาคม 2555 เวลา 10.00 น.-21.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 บูธ AP03 (ภายในงาน TCC EXPO) อิมแพ็ค เมืองทองธานี.