กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอเรื่อง กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ....เสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง โดยระบุ ความจำเป็นแรงด่วน เนื่องจากจากปัญหากระบวนการพิจารณาคดีแรงงานและการยกร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.... เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการร่างกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ร่างข้อกำหนดศาลแรงงานฯดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงาน
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.... โดยในเรื่องการไกล่เกลี่ยในข้อ 28 ที่ระบุ “ในระหว่างการพิจารณาเพื่อผลประโยชน์ในการประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานอาจสั่งให้คู่ความไปพบผู้ประนีประนอมหรือบุคคลอื่นตามที่ศาลแรงงานมอบหมายก็ได้” เป็นการนำหลักการไกล่เกลี่ยในคดีแพ่งมาใช้บังคับคดีแรงงานตามแนวนโยบายการปริมาณคดี อาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 38
ขณะเดียวกันคปก.มีความเห็นว่า วิธีพิจารณาของศาลแรงงานที่ปฏิบัติยังไม่ใช่ระบบไต่สวนอย่างแท้จริง เนื่องจากบทบาทหลักในการนำสืบข้อเท็จจริงและพยานยังเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริง ดังนั้นกระบวนการพิจารณาคดีแรงงานจึงต้องให้ศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริง(ระบบไต่สวน)เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมากกกว่าใช้ระบบผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นพิสูจน์ คปก.จึงเห็นว่าร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ....ควรกำหนดให้ชัดเจนในเรื่องบทบาทหน้าที่หลักและขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงที่กระทำโดยศาลแรงงาน
นอกจากนี้ คปก.มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงการยุติธรรมด้านแรงงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาลแรงงานและในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมและพัฒนาและการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงาน โดยคปก.เห็นว่า ศาลชำนัญพิเศษด้านแรงงาน จำเป็นต้องมีผู้พิพากษาที่มีองค์ความรู้และทักษะเฉพาะ ตลอดจนมีการส่งเสริมบทบาทและก้าวหน้าแก่ผู้พิพากษาที่มีความสนใจ หรือมีความสามารถด้านแรงงานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในศาลแรงงานได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงาน ควรพัฒนาบทบาทหน้าที่และศักยภาพของผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ทุกขั้นตอนของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อให้ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษ นอกจากนี้ควรจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เป็นข้าราชการตุลาการและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายละเท่ากัน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะเฉพาะด้านแรงงานให้แก่ผู้พิพากษาในศาลแรงงาน
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔