กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
โคขุน...เมืองปากน้ำโพประสบความสำเร็จ สมาชิกผนึกกำลังผลัดเลี้ยงแข็งขัน เพียง 45 วัน ฟาดกำไร 60,000 บาท สร้างกำลังใจถ้วนหน้า องค์กรวางแผนซื้อโคเพิ่ม หวังทำกำไร สร้างรายได้ให้สมาชิก ประธานกลุ่มเผยทำตามแผนทุกขั้นตอน อาศัยประสบการณ์ และความร่วมมือ โครงการจึงเดินหน้าด้วยดี ตั้งเป้าภายใน 1 ปี ผลิตโคไม่ต่ำกว่าร้อยตัว
นายนภดล สัจจาสัย รักษาการหัวหน้าสำนักงานสาขานครสวรรค์ พร้อมพนักงานและลูกจ้าง ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามโครงการของกลุ่มเกษตรกรพัฒนาบ้านห้วยบง ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี ที่ได้รับงบประมาณกู้ยืม 500,000 บาท นำไปจัดทำโครงการเลี้ยงโคขุน ทางองค์กรได้ดำเนินการจัดซื้อโคขุนจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มาเลี้ยงทั้งสิ้น 47 ตัว ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 45 วัน ได้ผลกำไรเกินคาด
นายนพรัตน์ สิงห์แก้ว ประธานองค์กรกล่าวว่า เมื่อองค์กรได้รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ แล้ว ก็เริ่มปฎิบัติงานตามแผน โดยได้หาแหล่งจำหน่ายโคที่มีคุณภาพจากจังหวัดตาก เนื่องจากพันธุ์โคที่นี่แข็งแรง ไม่เป็นโรค และจากประสบการณ์ในการเลี้ยงของสมาชิกที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้การเลี้ยงราบรื่น ไม่มีปัญหา หลังจากเลี้ยงไปได้เพียงหนึ่งเดือนครึ่ง ปรากฏว่ามีพ่อค้ามารับซื้อไปจำนวน 39 ตัว ในราคา 390,000 บาท ได้กำไร 60,000 บาท ขณะนี้ยังมีโคเหลืออีก 8 ตัว เงินในส่วนที่จำหน่ายวัวไปแล้วนั้นสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการต่างมีความเห็นร่วมกันว่า จะนำมาลงทุนจัดซื้อพันธุ์โคขุนรุ่นใหม่ ยังไม่ต้องการเงินปันผลตอบแทน จากผลงานที่สมาชิกร่วมกันเลี้ยงนั้น ต่างก็สร้างความยินดีปรีดาให้กับทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และทางองค์กรจะยังคงเลี้ยงโคขุนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ และคาดว่าหากครบหนึ่งปีกลุ่มจะมีโคขุนเพิ่มเป็นร้อยตัวแน่นอน
สมาชิกในองค์กรต่างรู้สึกขอบคุณสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ที่สนับสนุนงบประมาณ นับว่าเป็นเงินกู้ยืมก้อนแรกที่องค์กรได้รับ และสร้างผลกำไรไปในทางที่ดีทีเดียว เมื่อทุกคนเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จเช่นนี้ ต่างก็มีกำลังใจ ร่วมแรงร่วมใจที่จะทำโครงการด้วยกันต่อไป สำนักงานสาขาจังหวัดก็ให้การดูแล สนับสนุนอย่างใกล้ชิด ไม่ได้เป็นแค่ที่พึ่งด้านแหล่งเงินทุนอย่างเดียว แต่ยังเป็นที่พึ่งด้านความรู้สึกจิตใจของสมาชิกทุกคนอีกด้วย นายนพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
นายนภดล รักษาการหัวหน้าสำนักงานฯ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการทำงานของกลุ่มเกษตรกรพัฒนาบ้านห้วยบง ทำให้สำนักงานได้เห็นถึงการดำเนินงานและรับทราบว่าองค์กรนี้มีความเข้มแข็งมาก คณะกรรมการองค์กรได้ปฏิบัติตามคู่มือการบริหารจัดการองค์กรและตามที่ได้รับการอบรมทุกประการ สมาชิกมีความกลมเกลียว มีการวางกฏระเบียบการเลี้ยงวัว คือ แต่ละวันสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันต้อนวัวไปเลี้ยงบริเวณเชิงเขาซึ่งมีพื้นที่ ประมาณ 2,000 ไร่ แต่ละผลัดจะมีสมาชิก 2 คน โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเลี้ยงเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะจำหน่าย ที่ผ่านมายังไม่มีสมาชิกรายใดหยุดเวรเลี้ยงเลย ตรงกันข้ามทุกคนกลับมามีความสุขความสามัคคี ตกเย็นต้อนวัวเข้าคอกในหมู่บ้าน ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าเวรเลี้ยงก็มาคอยต้อนรับที่คอกและสนทนากันเป็นที่สนุกสนาน เป็นภาพที่เห็นแล้วรู้สึกมีความสุขกับสมาชิกไปด้วย ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังความสามัคคีขององค์กร นับว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ต้องการให้องค์กรรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง
เพื่อให้การดำเนินงานด้านการฟื้นฟูอาชีพขององค์กรเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้รับงบกู้ยืมในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา จำนวน 13 องค์กร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำนักงานได้วางแผนการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการทำกิจกรรมขององค์กรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกโครงการที่องค์กรได้รับงบกู้ยืม ตรงตามวัตถุประสงค์ กฏหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยได้นำทีมพนักงานและลูกจ้างทุกคน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฎิบัติงานในพื้นที่ ออกพบปะพูดคุยกับสมาชิกองค์กรทุกองค์กร คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำการใช้จ่ายงบประมาณ การปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กองทุนฟื้นฟูฯ กำหนด เรื่องหลักๆ ที่องค์กรยังขาดความรู้คือ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับ การเบิกจ่ายเงิน การเก็บหลักฐานการใช้เงิน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้สำนักงานได้เน้นให้ทุกองค์กรมีความรอบคอบ และจะต้องไม่ละเลยในการเก็บหลักฐาน เอกสารด้านการเงิน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ในการรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ ให้สำนักงานทราบจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ นายนภดล กล่าวปิดท้าย