กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้าง “ตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำ กำลังผลิตสูง” ที่สามารถใช้หุงข้าวปริมาณมากภายในเวลาจำกัด ด้วยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ ประหยัดพื้นที่และสะดวกต่อ การใช้งาน หวังเป็นตู้ต้นแบบให้หน่วยงานในชุมชนสามารถผลิตไว้ใช้หุงข้าวเพื่อแจกจ่ายให้แก่คนในพื้นที่ยามประสบอุทกภัย
นายสุทธิรักษ์ เพชรรัตน์ นักวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการผลิตตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำ กำลังผลิตสูง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2554 มีหลายพื้นที่ไม่สามารถหุงหาอาหารได้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าวหุงสุกซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย ที่ส่วนใหญ่มักหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ซึ่งหุงได้ปริมาณน้อยในแต่ละครั้ง และไม่สามารถใช้หุงข้าวได้หากอยู่ในพื้นที่ที่ถูกตัดกระแสไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของการผลิตตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำ กำลังผลิตสูง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหุงข้าวให้ได้ปริมาณมากในเวลาที่จำกัด โดยใช้แก๊สหุงต้มหรือ LPG เป็นแหล่งให้ความร้อน เป็นต้นแบบให้ชุมชนสามารถสร้างขึ้นไว้ใช้ในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ และยังสามารถใช้เป็นตู้ต้นแบบสำหรับผลิตข้าวหุงสุกในเชิงอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
ตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำกำลังผลิตสูงที่ออกแบบและสร้างขึ้นนั้น ภายในบรรจุถาดหุงข้าวไว้จำนวน 10 ถาด แต่ละถาดสามารถหุงข้าวได้ 2.5 กิโลกรัม รวมแล้วสามารถหุงข้าวได้ครั้งละ 25 กิโลกรัม ใช้เวลาหุงให้ข้าวสุกทั้งหมดครั้งแรก 55 นาที และเมื่อหุงข้าวครั้งถัดไปในขณะที่ตู้ยังร้อนอยู่ จะลดเวลาหุงข้าวลงเหลือเพียง 42 นาที โดยมีอัตราการสิ้นเปลืองแก๊สหุงต้มหรือ LPG อยู่ที่ 1.1 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และตู้สามารถเก็บรักษาอุณหภูมิของข้าวหรือทำให้ข้าวอุ่นอยู่ได้นานมากกว่า 12 ชั่วโมง
การสร้างตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำ กำลังผลิตสูงใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยใช้สแตนเลส ซึ่งมีคุณสมบัติทนความร้อน ต้านการเกิดสนิมและมีความแข็งแรงทนทานเป็นวัสดุหลัก และได้ออกแบบให้ตู้มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงด้วยการใส่แท่งโลหะนำความร้อนไว้ภายในหม้อต้มน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว ช่วยให้หม้อต้มน้ำได้รับความร้อนจากแก๊สและถ่ายเทความร้อนได้ดีขึ้น และยังช่วยชะลอความเร็วของเปลวไฟ ส่งผลให้น้ำเดือดเร็วกว่าการใช้หม้อต้มน้ำแบบปกติถึง 20% นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้ตู้มีขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่จนเกินไป โดยมีพื้นที่ใช้งานเพียง 1 ตารางเมตร และใส่ล้อไว้ที่ขาตู้ทั้ง 4 ขา ให้สามารถเคลื่อนที่ได้ สะดวกต่อการใช้งาน
นายสุทธิรักษ์ เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำ กำลังผลิตสูง ต้นแบบ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส. ตามโครงการมหาวิทยาลัยช่วยเหลือสังคมที่ประสบอุทกภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตู้ต้นแบบให้หน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ เช่น โรงเรียน วัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานอื่นๆ นำไปพัฒนาหรือดัดแปลง และสร้างขึ้นไว้ใช้หุงข้าวเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีอาหารเพียงพอในช่วงที่เกิดอุทกภัย หน่วยงานหรือประชาชนผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำ กำลังผลิตสูง ได้ที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 0-7428-6314 หรือ 0-7444-6728 ในวันเวลาราชการ
ข่าวโดย นางสาวพรรณภัทร ประทุมศรี นักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 0-7428-2022 อีเมล phannaphat.p@psu.ac.th