กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สกว.
แต่ละปีที่มีการจัดลำดับความสามารถการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก ประเทศไทยมักจะมีชื่ออยู่ในลำดับท้ายๆ ส่งผลให้หลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนากระบวนการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ขนานใหญ่จนอาจลืมคิดไปว่าการจะพัฒนาเด็กไทยให้มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้นั้นจุดสำคัญที่สุดคือต้องพัฒนา “ครู” ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้กับเด็กก่อน เพราะหากครูไม่สามารถคิดรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ให้เด็กอยากเรียนรู้ได้ กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์คงไม่เกิดขึ้น และโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คือแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของครู ที่เปลี่ยนจากครูที่เคยสอนตามแบบแผนและเนื้อหาที่กำหนดมาให้ มาเป็นครูผู้สร้างความรู้จากท้องถิ่นด้วยกระบวนการวิจัย เพื่อสร้างขุดการเรียนรู้ที่เป็นประเด็นท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
หัวใจของการเรียนรู้ท้องถิ่นคือ การสัมผัส โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นจึงเน้นให้ครูลงมือค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากเอกสารแหล่งความรู้และจากการสำรวจในพื้นที่ แล้วสร้างกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียนอย่างเชื่อมโยงทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับครูด้วยกระบวนการวิจัยที่ครูเข้ามารับบทบาทเป็นนักวิจัย แล้วแปลความรู้จากการวิจัยไปเป็นชุดการเรียนรู้ โดยความรู้ที่ได้นี้นอกจากจะเป็นความรู้เฉพาะถิ่นแล้วยังได้รู้จักแหล่งเรียนรู้อีกมากหมายทั้งจากนักวิชาการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ และปราชญ์ชาวบ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อเปลวแสงแห่งปัญญาเจิดจ้าในตัวครูแล้วการส่งผลความรู้และกระบวนการเรียนรู้จากครูผู้สอนมายังผู้เรียนย่อมเกิดขึ้น และเมื่อนั้นเด็กๆผู้เรียนจะถูกปลูกวัคซีนทางความคิดที่เป็นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์และกระบวนการวิจัยที่เขาคุ้นเคยสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เพื่อเป็นการนำเสนอชุดการเรียนรู้จากหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไปช่วยพัฒนาครูจากครูผู้สอนให้กลายเป็นครูผู้สร้างนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงกำหนดจัดการประชุมวิชาการ “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง” ขึ้นในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2547 เวลา 8.00 — 16.30 น. ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยจะมีการนำเสนอกรณีศึกษา 4 โครงการคือ ชุดการเรียนรู้เรื่อง นาข้าวรุ่งอรุณ น้ำพุร้อนแม่จัน การอนุรักษ์หอยนางรมตามธรรมชาติบ้านแหลม และ แมลง...หกขาพาสนุก นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเกี่ยวกับงานวิทยาศาสตร์ผ่านมุมมองผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ศ.เสน่ห์ จามริก ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นต้น พร้อมนำเสนอนิทรรศการ/สาธิตชุดการเรียนรู้ต่างๆในโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นกว่า 20 โครงการ (รายละเอียดตามกำหนดการ)
กำหนดการประชุมวิชาการ
“วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง”
วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2547
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ
8.00 — 8.30 น. ลงทะเบียน/เดินชมนิทรรศการตามอัธยาศัย
8.30 — 8.45 น. กล่าวต้อนรับ ชี้แจงกำหนดการและกิจกรรม
โดย รศ.สุชาตา ชินะจิตร
ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
8.45 - 9.00 น. รับประทานอาหารว่าง
9.00 - 10.30 น. นำเสนอกรณีศึกษา 4 โครงการ (แบ่งห้องย่อย 4 ห้อง)
- ชุดการเรียนรู้เรื่อง “นาข้าวรุ่งอรุณ” โดย อ.ชาลี มโนรมณ์
โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร
- ชุดการเรียนรู้เรื่อง “น้ำพุร้อนแม่จัน” โดน อ.กานดา ช่วงชัย
โรงเรียนแม่จันวิทยาคม จ.เชียงราย
- ชุดการเรียนรู้เรื่อง “การอนุรักษ์หอยนางรมตามธรรมชาติบ้านแหลม”
โดย อ.ถวิล ช่อเจี้ยง โรงเรียนบ้านแหลม จ.ตรัง
- ชุดการเรียนรู้เรื่อง “แมลง...หกขาพาสนุก” โดย อ.ศิริพงษ์ สิมสีดา
โรงเรียนบ้านกระทุ่ม จ.บุรีรัมย์
10.30 - 12.00 น. ชมนิทรรศการ ตัวอย่างผลงานครู นักวิจัยจำนวน 24 โครงการ
12.00 - 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00 - 13.30 น. พิธีเปิดโดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชมวีดิทัศน์แนะนำ-สรุปงานโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น
13.30-15.00 น. เสวนาเรื่อง “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง”
โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ศ.เสน่ห์ จามริก
อ.ศิริพงศ์ สีมสีดา
( ดำเนินรายการโดย นรากร ติยายน )
15.00 - 15.15 น. รับประทานอาหารว่าง
15.15 - 16.15 น. เสวนาขยายผล โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี และ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
( ดำเนินรายการโดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ )
16.15 - 16.30 น. มอบเกียรติบัตรและกล่าวปิดการประชุม
โดย ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--