กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง “ไอแบงก์ พบผู้นำศาสนา” ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ธนาคารอิสลามกับการตอบสนองความจำเป็น ทางด้านการเงินของสังคมมุสลิม” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ ซึ่งจัดการสัมมนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง มีผู้นำศาสนาจาก 70 จังหวัด เข้าร่วมกว่า 1000 คน
นายอรัญ วงศ์อนันต์ กรรมการและประธานอนุกรรมการพัฒนาธนาคาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ พร้อมด้วย ดร.อดิศักดิ์ อัสมิมานะ กรรมการธนาคาร และ อาจารย์อรุณ บุญชม ประธานคณะที่ปรึกษาธนาคารด้านชะรีอะฮ์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “ไอแบงก์ พบผู้นำศาสนา” โดย นายอรัญ วงศ์อนันต์ กรรมการและประธานอนุกรรมการพัฒนาธนาคาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการทั้งที่เป็นมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม จึงได้จัดทำโครงการ “ไอแบงก์ พบผู้นำศาสนา” ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ธนาคารอิสลามกับการตอบสนองความจำเป็น ทางด้านการเงินของสังคมมุสลิม” ภายใต้วัตถุประสงค์การประชุมสัมมนา
1. เพื่อทราบถึงทัศนคติของผู้เข้าร่วมสัมมนาต่อการดำเนินการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
2. เพื่อการแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของธนาคาร
3. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธนาคารอิสลามกับพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ และคณะกรรมการอิสลามของแต่ละจังหวัด นักวิชาการด้านศาสนาและผู้นำองค์กรมุสลิม
4. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชนมุสลิมกับธนาคาร
โดยโครงการดังกล่าวนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ ประธานกรรมการและคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การพบผู้นำศาสนาในทุกพื้นที่ ได้มีวิทยากรเข้าร่วมสัมมนา อาทิ ประธานกรรมการและคณะกรรมการธนาคาร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านชะรีอะฮ์พร้อมคณะ คณะผู้บริหารธนาคาร ซึ่งได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นักวิชาการด้านศาสนาและผู้นำองค์กรสถาบันมุสลิม โดยจัดการประชุมสัมมนาตามศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีหัวข้อที่สำคัญ รวม 4 ด้าน ดังนี้
1. จุดกำเนิดและความสำคัญของระบบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
2. ธนาคารอิสลามเป็นทางออกสำหรับมุสลิมและเป็นทางเลือกสำหรับทุกศาสนิก
3. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกับบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และสังคมมุสลิม
4. หลักชะรีอะฮ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจธุรกรรมธนาคาร
โดยการจัดประชุมสัมมนาดังกล่าว มีทั้งหมด 9 รุ่น มีผู้นำศาสนาจาก 70 จังหวัด เข้าร่วมสัมมนากว่า 1,000 คน ครอบคลุมผู้นำศาสนาทั่วประเทศ ซึ่งผลจาการสัมมนาทำให้ได้ข้อเสนอแนะในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ธนาคารเพิ่มเติมการให้บริการในด้านต่างๆมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าถึงชุมชนมุสลิมโดยผ่านช่องทางมัสยิด การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้สอดคล้องต่อความต้องการของพี่น้องมุสลิม การจัดให้มีการอบรมการให้ความรู้เรื่องระบบธนาคารอิสลามมากยิ่งขึ้น และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรอิสลามให้กับพนักงานธนาคาร เพราะมีทั้งผู้ที่นับถือศาสนอิสลาม และศาสนาพุทธ เป็นต้น
รายละเอียดดังกล่าวข้างต้น คือ เสียงสะท้อนจากผู้นำศาสนาในทุกพื้นที่ และนอกจากนี้ เหล่าผู้นำศาสนาในแต่ละพื้นที่ ยังได้ให้ความมั่นใจต่อธนาคารถึงการที่จะนำข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้เสนอแนะและได้ร่วมแลกเปลี่ยนจาการสัมมนาไปเผยแพร่ต่อ และชักชวนพี่น้องมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนมาใช้บริการเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยแห่งแรกและแห่งเดียว ที่ตอบสนองการดำเนินธุรกรรมทางการเงินตามหลักการศาสนาอิสลาม ทั้งด้านเงินฝากและสินเชื่อ นอกจากนี้ ทางธนาคารจะนำข้อมูลจากการสัมมนา ทั้ง 9 รุ่น ตามข้อเสนอแนะของผู้นำศาสนา ไปปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของพี่น้องมุสลิมมากยิ่งขึ้น ต่อไป นายอรัญ กล่าวทิ้งท้าย