ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่ ‘BBB’/‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2012 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Issuer Default Rating (LT IDR)) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (Long-Term National Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่น แสดงไว้ในส่วนท้าย อันดับเครดิตของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย หากมีความจำเป็น โดยมุมมองดังกล่าวพิจารณาจากการที่ EXIM มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร การที่ธนาคารมีสิทธิในการขอรับการชดเชยจากกระทรวงการคลังหากมีความเสียหายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีและมีสิทธิขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารในระดับหนึ่ง รวมถึงการที่ธนาคารมีสถานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (specialized financial institution หรือ SFI) และมีบทบาทที่สำคัญในฐานะองค์กรหลักที่ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ EXIM ยังได้รับนโยบายเพิ่มเติมจากรัฐบาลให้ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง (SMEs) โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไปสู่ผู้ส่งออก รวมไปถึงการให้การสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ EXIM ที่ ‘BBB’ อยู่ที่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย จะส่งผลให้มีการปรับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารไปในทิศทางเดียวกัน และอาจส่งผลให้มีการปรับอันดับเครดิตสนับสนุนด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร ซึ่งน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดที่ ‘AAA(tha)’ การเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของความเห็นของฟิทช์ในด้านความตั้งใจหรือความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ EXIM ซึ่งรวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญของรัฐบาล อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบเช่นกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง เนื่องจากอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพและ EXIM ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล EXIM อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการธนาคาร การดำเนินงานของธนาคารได้รับการตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่งบการเงินของธนาคารได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคารได้รับการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลตั้งแต่ธนาคารถูกจัดตั้งขึ้น โดยการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดเป็นการเพิ่มทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจบริการประกันการส่งออก นอกจากนี้ EXIM ยังได้รับการชดเชยจากกระทรวงการคลังในส่วนของความเสียหายจากบางธุรกรรมที่ดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลและมีความเสี่ยงสูง ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2555 น่าจะยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งต่อเนื่อง จากการขยายสินเชื่อในส่วนของธุรกิจพาณิชย์นาวีและสินเชื่อประเภท project finance ในขณะที่การขยายสินเชื่อสำหรับผู้ส่งออกอาจมีปริมาณลดลง คุณภาพสินทรัพย์ของ EXIM ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดหนี้สูญ ทั้งนี้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อของธนาคารที่ 4.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจอ่อนแอลงในปี 2556 จากนโยบายที่เพิ่มการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs สภาพคล่องของธนาคารมีความอ่อนไหวต่อสภาวะของตลาดทุนเนื่องจาก EXIM ไม่สามารถระดมเงินฝากจากประชาชนได้ ทำให้การระดมทุนส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากตลาดทุนและการกู้ยืม โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 floating rate notes สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ออกโดยธนาคารคิดเป็นประมาณ 45% ของเงินกู้ยืมรวม อย่างไรก็ตามความสามารถในการระดมทุนของธนาคาร มีปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์ว่าธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย หากมีความจำเป็น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 13.2% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ระดับ 14.4%ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตามอัตราเงินกองทุนดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2552 โดยหลักเนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อและธุรกิจบริการประกันการส่งออก อันดับเครดิตของ EXIM ที่ได้รับการคงอันดับมีดังนี้ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BBB’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ