กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ชมฉวีวรรณ
สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) จัดแถลงข่าวใหญ่ “ปีทองลำไยไทย ก้าวไกลทั่วโลก” เดินหน้าต่อ ลุยตลาดอินเดีย ผนึกกำลังพันธมิตรจากประเทศอินเดียประสานความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดีย ในการจัดหาตลาดผลผลิตลำไยส่งออกไปอินเดีย โดยได้รับเกียรติจาก นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายอนิล วัธวา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย และคุณอภิชาติ สุดแสวง ผู้บริหารจากกลุ่มบริษัท โมเดิร์น ตัวแทนผู้ส่งออกไทยและ มร.จอร์น มุกเฮอร์จี กลุ่มบริษัทปูราฟ ตัวแทนผู้นำเข้าจากอินเดีย ตั้งเป้าขยายการส่งออกสู่ประเทศอินเดียไม่น้อยกว่า 10,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการขยายตลาดกระจายผลผลิตลำไยไทย และป้องกันปัญหาราคาลำไยตกต่ำในระยะยาว
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการ ชื่นชมว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของผลไม้ ที่มีให้เลือกรับประทานได้ตลอดทั้งปี และยังมีให้เลือกหลากหลายชนิด โดยเฉพาะลำไยซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจของไทยที่มีความต้องการทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดในปี 54 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 15,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่สามารถหารับ ประทานได้หลายรูปแบบทั้งลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และลำไยอบแห้ง โดยมีแหล่งปลูกลำไยที่สำคัญ ของประเทศ และได้รับการรับรองว่าเป็นลำไยคุณภาพ คือ พื้นที่ภาคเหนือ แถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา น่าน ส่วนที่ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ จะมีพื้นที่ปลูกบ้างประปราย แต่ลำไยในภาคเหนือจะออกสู่ตลาดช้ากว่าที่อื่นเล็กน้อยคือในช่วง เดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน
“แม้ว่าลำไยจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม หากแต่ปัญหาราคาผลผลิตลำไยตกต่ำก็ยังเป็นปัญหาที่พบอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือของรัฐบาลและ กทบ.ในการจัดทำโครงการ “ปีทองลำไยไทย ก้าวไกลทั่วโลก” ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมผลผลิตลำไยกระจายไปทั่วประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้การกระจายผลผลิตลำไยที่มีคุณภาพสู่คนไทยอย่างทั่วถึง อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรได้กระจายสินค้า เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไยให้ได้มาตรฐาน รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำในระยะยาว ซึ่งจากการเปิดตัวโครงการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าผลผลิตลำไยไทยได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอินเดียที่ประชากรนิยมบริโภคลำไยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว” นายวรวัจน์ กล่าว
ที่ผ่านมา ประเทศจีนถือเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทยในการส่งออกลำไยไทย ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 13,500 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศอินเดีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพต่อตลาดส่งออกเนื่องจากมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก จึงส่งผลให้ความต้องการในการบริโภคลำไยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นลำไยสด และลำไยอบแห้ง โดยพบว่า ปัจจุบันการบริโภคลำไยในประเทศอินเดียได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีราคาขายในท้องตลาดสูงถึง 400 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับเป้าหมายการส่งออกในช่วงแรก ซึ่งคาดว่าจะส่งออกลำไยไทยสู่อินเดียได้ในปี 56 โดยประมาณการณ์การส่งออกในปีแรกประมาณ 10,000 ตัน โดยเชื่อว่าภายหลังจากการรุกขยายตลาดส่งออกสู่ประเทศอินเดียในครั้งนี้ จะกระตุ้นยอดการส่งออกลำไยให้มีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ รัฐบาลไทย กทบ. และรัฐบาลอินเดีย ได้วางแผนระยะยาวเพื่อการส่งเสริมการบริโภคลำไยไทย และผลไม้ไทยในอินเดียอีกด้วย โดย นายอนิล วัธวา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการส่งเสริมการบริโภคลำไยในอินเดียว่า “รัฐบาลอินเดียมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการบริโภคลำไยไทยและผลไม้ไทยในอินเดีย โดยได้เตรียมการจัดนิทรรศการโรดโชว์ โดยนำลำไยและผลไม้ต่างๆ ไปเผยแพร่ยังประเทศอินเดีย โดยเฉพาะลำไย ซึ่งมีความต้องการในการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย เพื่อให้ความรู้ เพิ่มเติมถึงประวัติความเป็น มาของลำไยไทย คุณประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเมนูที่หลากหลาย ในการรับประทานลำไยไทยให้กับสื่อมวลชนและประชาชนชาวอินเดีย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค อย่างแพร่หลายมากขึ้น”
นอกเหนือจากแผนการขยายตลาดการส่งออกลำไยไทยแล้ว นายวรวัจน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวรัฐบาลได้เน้นย้ำถึงคุณภาพในการส่งออก ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยต้องการปรับปรุงคุณภาพไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง เพื่อที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางในการกระจายผลิตภัณฑ์ ลำไยคุณภาพไปสู่ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้พัฒนานวัตกรรมการสำรวจคุณภาพของสวนลำไยด้วยดาวเทียม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความมั่นใจในผลผลิตทางการเกษตรของไทยสู่ตลาดโลกต่อไป