กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
กรมการแพทย์ เผยแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ ด้วยหออภิบาลคุณภาพชีวิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดูแลผู้ป่วย พร้อมเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ภายในงาน “World Hospice & Palliative Care Day” ณ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศไทย และอัตราของผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยในแต่ละปี ภาครัฐจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนั้น กรมการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในการรักษาเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีหน่วยงานที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ได้จัดตั้งหออภิบาลคุณภาพชีวิตขึ้น เพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยระยะสุดท้าย ตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative Care คือ การดูแลแบบองค์รวม ทั้งทางร่างกายและจิตใจนั่นเอง
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “โรคมะเร็งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก โดยกรมการแพทย์ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างเป็นระบบ และมีหน่วยงานในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยครอบคลุม อย่างโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี แห่งนี้ ก็เป็นหนึ่งใน 7 ศูนย์โรคมะเร็งที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจร และทางกรมฯ ยังได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาลจังหวัดอีกกว่า 20 แห่ง เพื่อเปิดเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา สำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น หรือผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้เป็นอย่างดี ก็จะได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย อาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ดังนั้น ทางกรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดตั้งหออภิบาลคุณภาพชีวิต เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ซึ่งพบว่า การดูแลผู้ป่วยตามแนวทางดังกล่าวสามารถลดต้นทุนในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบการรักษาแบบเดิมที่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,660.26 บาท ต่อคน ลดเหลือเพียง 1,245.69 บาท”
หออภิบาลคุณภาพชีวิต คือ ศูนย์ที่ได้รับการตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายบ้าน มีการจัดห้องและมุมต่างๆ สำหรับให้ผู้ป่วยได้เข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน อาทิ ห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มุมศิลปะบำบัด และมุมพักผ่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) โดยการนำสุนัขมาฝึก และให้เป็นเพื่อนเล่นกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือและข้อ และยังเป็นการบำบัดจิตใจ ให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เหงา ลดความวิตกกังวลและความเครียด ช่วยเยียวยาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้จัดกิจกรรมโดยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาและมีอาการดีขึ้น หรือหายขาดแล้ว ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งอื่นๆ อาทิ การทำเต้านมเทียม และการทำวิกผม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่นๆ ให้สามารถต่อสู้กับโรคร้าย และสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้เป็นปรกติ ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรจะดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านการดูแล ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างกำลังใจ และเพิ่มโอกาสในการดำรงชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวมากขึ้นด้วย