กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
ม.หอการค้าไทย เชิญ ศาสตราจารย์ พัน เต๋อ ติ๋ง (Prof. Pan Deding) ปาฐกถาเรื่อง ภาษาไทยในประชาคมโลก การพัฒนาตำราเรียนและการเรียนการสอน เพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการสื่อสารในโลกไร้พรมแดน
ม.หอการค้าไทยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยในประชาคมโลกเพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประเทศจีนเพิ่มศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร เชื่อมความสัมพันธ์ในการพัฒนาธุรกิจ เปิดโอกาสในการติดต่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต การติดต่อทางเศรษฐกิจ การค้าขาย การท่องเที่ยวและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ศาสตราจารย์ พัน เต๋อ ติ๋ง (Prof. Pan Deding) กล่าวว่า “การเรียนภาษาไทยในประเทศจีนสมัยก่อนนั้นจะมีข้อจำกัดด้านสถานที่ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาไทย ในประเทศจีน ในสมัยก่อนจะมีจำนวนน้อย ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เริ่มเปิดสอนเมื่อปีค.ศ.1942 มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนน้อยกวางสี เปิดสอนเมื่อปีค.ศ.1964 มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง เปิดสอนเมื่อปีค.ศ.1965 มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศกวางตุ้ง เปิดสอนเมื่อปีค.ศ.1970 มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนน้อยยูนนาน เปิดสอนเมื่อปีค.ศ.1980 รวมถึงข้อจำกัดด้านตำราเรียน และหลักสูตรวิชาที่เปิดสอนมีจำกัด ทำให้นักศึกษาที่เล่าเรียนภาษาไทยในขณะนั้นจะใช้วิชาชีพในการทำงานด้านภาษาไทยค่อนข้างยากกว่าในปัจจุบัน
ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทย ที่พัฒนาขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดสถาบันที่เปิดสอนภาษาไทยในระดับต่าง ๆ มากขึ้น มีผู้ที่สนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้น อาจารย์สอนภาษาไทยก็มีโอกาสมาสอนภาษาที่เมืองไทยเพื่อพัฒนาทักษะของตนเอง เกิดการพัฒนาเรียบเรียงตำราเรียนภาษาไทยและวิชาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น และนอกจากนี้เป้าหมายและรูปแบบในการผลิตนักศึกษามีหลากหลายมากขึ้น เปิดหลักสูตรกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มระดับความรู้ความสามารถในการเรียน ริ่เริ่มผลิตนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและบุคลากรกับมหาวิทยาลัยเมืองไทยมากขึ้น และมีการจัดตั้งสมาคมการเรียนการสอนภาษาไทย (China Association of Thai Language) เพื่อเป็นศูนย์การการติดต่อเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้กว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้วิธีสอนที่เคยใช้ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ไม่ได้ใช้วิธีสอนที่แน่นอน จะเน้นวิธีการฟังและการใช้ทักษะด้านไวยากรณ์และการแปลพัฒนาเป็นวิธีสื่อสาร(Communicative approach) ซึ่งปัญหาที่พบจะเกิดจากการออกเสียงที่มีตัวสะกดคล้ายกัน ดังนั้นการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นที่การให้นักศึกษารู้จักหลักในการแยกพยางค์สระเสียงสั้นกับสระเสียงยาวในเมื่อมีตัวสะกดต่าง ๆ ตามหลัง และการแยกแยะความแตกต่างระหว่างพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นกับสระเสียงยาวเมื่อมีตัวสะกดต่าง ๆ นั้น และการปรับวิธีสอนที่เน้นความเหมือนมาเป็นวิธีสอนที่เน้นความต่าง คือการสอนการออกเสียงที่มีความใกล้เคียงกันให้ออกเสียงได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจและปรับใช้ได้ง่ายขึ้น
“การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในประเทศจีนนั้นจะช่วยให้ข้อจำกัดของการติดต่อสื่อสาร ด้านภาษาที่แตกต่างกันนั้นลดน้อยลง และช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานในต่างแดน ซึ่งประเทศจีนและประเทศไทยนั้นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การเชื่อมความสัมพันธ์ในการติดต่อธุรกิจ หากใช้ภาษาเดียวกันที่เป็นภาษากลางนั้นจะช่วยให้การพัฒนาธุรกิจนั้นเป็นไปด้วยความสะดวก นอกจากนี้ การเพิ่มทักษะทางด้านภาษานอกจากภาษาแม่ของตนเองจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงให้เป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย” ศาสตราจารย์ พัน เต๋อ ติ๋ง กล่าวสรุป