กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
ยัม! ประเทศไทย นำร่องรับพนักงานหูหนวกกว่า 120 คนเข้าทำงานที่ร้านเคเอฟซี เป็นรายแรกของธุรกิจ QSRพร้อมทุ่มงบติดตั้งอุปกรณ์เสริมกว่า 1.3 ล้านบาท ขจัดอุปสรรคในการสื่อสาร
ร้านอาหารแบรนด์ดังเคเอฟซี ภายใต้การบริหารงานของ ยัม! ประเทศไทย เดินหน้านโยบายรับพนักงานที่มีผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายเข้าทำงานและปฏิบัติงานได้จริง นำร่องสาขาแรก เคเอฟซีไทม์สแควร์ ประเดิมเจ้าแรกในวงการร้านอาหารบริการด่วน พร้อมตั้งเป้ารับเพิ่ม 120 คนในปี2556
บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ดำเนินนโยบายรับพนักงานที่มีความพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายเข้าทำงานที่ร้านเคเอฟซี โดยส่งเสริมและฝึกฝนให้พนักงานที่มีความพิการทางการได้ยินและการสื่อความหมายเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ภายในร้านเคเอฟซี พร้อมทั้งให้สวัสดิการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพเช่นเดียวกับพนักงานปกติทุกประการ โดยเริ่มสาขาทดลองเปิดรับพนักงานเหล่านี้เข้าทำงานที่เคเอฟซี สาขาไทม์สแควร์ สุขุมวิท ซึ่งเปิดให้บริการตามปกติมาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ขณะนี้มีพนักงานกลุ่มนี้เข้าทำงานจำนวน 32 คน โดยมีอัตราส่วนพนักงานผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายกับพนักงานปกติ 70:30 ซึ่ง ยัม! ประเทศไทย ประเดิมเจ้าแรกในวงการธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนที่เปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ
นายมิลินด์ พันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยัม! ประเทศไทย ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเคียงคู่ไปกับการดูแลชุมชนที่ร้านเคเอฟซีและพิซซ่าฮัทตั้งอยู่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยัม! ประเทศไทย เป็นองค์กรที่มีความเชื่อมั่นในคุณค่าของทุกคน โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมก็มีศักยภาพที่โดดเด่น ควรได้รับโอกาสในการทำงานอย่างหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ยัม! ประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการ KFC เราได้ยินทุกความฝัน : ร้าน KFC ที่ให้บริการโดยคนหูหนวกโดยเปิดรับผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายจากทั่วประเทศเข้าทำงานกับบริษัทฯ ภายใต้แบรนด์เคเอฟซี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายเหล่านี้ มีโอกาสเป็นพนักงานขององค์กรเอกชน มีรายได้เพียงพอสำหรับดูแลครอบครัว และมีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเอง ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อสังคมที่ ยัม! ประเทศไทย มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืนเคียงข้างชุมชน
“ในปี 2555 เราพัฒนาระบบการบริหารจัดการร้านเคเอฟซี สาขาไทม์สแควร์ นำร่องเป็นสาขาแรก เพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงานที่มีความพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงทุนติดตั้งระบบและเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก 1,300,000 บาท นอกเหนือจากงบประมาณที่ลงทุนเปิดร้านเคเอฟซีสาขาอื่นๆ เนื่องจากการรับผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายเข้าทำงาน จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในร้านให้เหมาะสม เช่น เสียงสัญญาณเตือนภัย จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นไฟสีแดงกะพริบแทน เป็นต้น รวมถึงระบบปฏิบัติการต่างๆ อาทิ ขั้นตอนการรับออเดอร์ การสั่งอาหาร ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้พนักงานเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขในการทำงานเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นๆ ที่สำคัญในปี 2556 ยัม! ประเทศไทย มีแผนที่จะขยายสาขาการรับพนักงานผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายมาทำงานเพิ่มในร้านเคเอฟซี สาขาเมเจอร์ สุขุมวิท และสาขาเกตเวย์ เอกมัย นอกจากนี้ในอนาคตเรายังมีแผนการขยายการรับพนักงานพิเศษเหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อไป เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย” นายมิลินด์กล่าวเสริม
นางสาวอนิต้า โซนี่ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า วัฒนธรรมองค์กรของ ยัม! ประเทศไทย เราเชื่อว่า ศักยภาพของบุคลากรต้องมาก่อน ความพึงพอใจของลูกค้าและผลกำไรก็จะตามมา ขณะเดียวกันเรายังมีวัฒนธรรมแห่งการชื่นชมคุณค่าของคนทุกคน ดังนั้นการรับพนักงานเข้ามาทำงานร่วมกับ ยัม! ประเทศไทย มีจึงเปิดโอกาสในการรับสมัครพนักงานที่พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายเข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทฯ ซึ่งภายในปี 2556 มีเป้าหมายรับสมัครพนักงานพิเศษเหล่านี้เข้าทำงานจำนวน 120 คน ในร้านเคเอฟซีจำนวน 3 สาขา ถือเป็นธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนรายแรกของไทยที่มีนโยบายรับพนักงานพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายเข้าทำงานและปฏิบัติการให้บริการในร้านอาหารบริการด่วน ที่สำคัญพนักงานเหล่านี้ยังได้รับการส่งเสริมให้ทำงานได้จริง อย่างไรก็ตาม ยัม! ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ในการแนะนำน้องๆ ที่เพิ่งจบการศึกษาเข้ามาฝึกงานที่ร้านเคเอฟซี โดยน้องๆ เหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้งานจากผู้จัดการร้านที่คอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสอนงาน ที่สำคัญบริษัทฯ มีนโยบายพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกคน กรณีของน้องๆ พนักงานผู้พิการทางหูก็เช่นเดียวกัน น้องๆ เหล่านี้จะได้รับการเรียนรู้ และฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะร่วมกับทีมผู้จัดการร้าน และผู้จัดการเขตของเคเอฟซี และทีม Restaurant Excellence พัฒนาและดึงศักยภาพของพนักงานกลุ่มนี้ออกมาเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะการทำงานให้บริการลูกค้าภายในร้านเคเอฟซี
“นอกจากนี้ เรายังจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้และการฝึกอบรมพัฒนาของพนักงานให้เป็นภาษามือ การแปลองค์ความรู้เป็นตัวอักษรภาษาไทย บรรจุใส่ไว้ในระบบ Learning Zone ให้พนักงานเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนร่วมกับเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้เกี่ยวกับการปรุงอาหารเมนูต่างๆ ของเคเอฟซี หรือการเรียนและพัฒนาทักษะการให้บริการภายในร้าน ซึ่งพนักงานผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายก็จะได้รับการถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ นำไปสู่การเจริญเติบโตในหน้าที่ การเลื่อนตำแหน่งและค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เราคาดหวังว่าในอนาคต พนักงานเหล่านี้จะสามารถก้าวขึ้นไปเป็น ผู้จัดการร้านเคเอฟซี ที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการร้านอาหารบริการด่วนที่ดีเยี่ยมคนหนึ่ง และมีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน” นางสาวอนิต้า กล่าว
ด้าน นายสุขสันต์ สุทธิบุญ ผู้จัดการสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จากฐานข้อมูลกลางคนพิการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555 พบว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทั่วประเทศ จำนวน 1,265,225 คน ในส่วนของผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายมีจำนวน 199,284 คน ซึ่งมีผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายจำนวนไม่มากที่ได้รับโอกาสดีๆ เข้าทำงานและใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข ผมเชื่อว่าน้องๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพและศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ ได้ เพียงแต่ต้องการโอกาสทางสังคมเท่านั้นเอง ผมขอขอบคุณเคเอฟซีแทนน้องๆ เหล่านี้ที่หยิบยื่นโอกาสที่ดี เพื่อให้น้องๆ ได้มีชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมไทยต่อไป”
ผศ.ดร.เกยูร วงศ์ก้อม ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีนโยบายการจัดการศึกษาพิเศษให้กับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย ผู้พิการทางการมองเห็น ผู้พิการทางออทิสติก เป็นต้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ มีนักศึกษาที่พิการทางการได้ยินและการสื่อความหมายกว่า 70 คน เข้าเรียนในส่วนใหญ่เรียนในภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้แม้ว่าจะเรียนรู้ได้ช้ากว่าคนทั่วไป เพราะเด็กจะเรียนรู้ภาษามือที่เป็นอักษรภาพมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมาเรียนรู้ภาษาเขียนในการสื่อสารก็จะต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงประโยค อย่างไรก็ตาม นักศึกษาพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายมีความตั้งใจในการเรียนมาก เมื่อเรียนจบไปแล้วก็จะมีภาคเอกชนมาติดต่อรับเข้าทำงาน ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับ ยัม! ประเทศไทย ในการผลิตบัณฑิตซึ่งเป็นนักศึกษาพิเศษเข้าทำงานกับเคเอฟซีต่อไป
ทั้งนี้ ผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย หรือผู้สนใจต้องการเข้ามาร่วมงานกับเราสามารถติดต่อสมัครงานได้ที่ ผู้จัดการร้านเคเอฟซี สาขาไทม์สแควร์ ถนนสุขุมวิท หรือ สมัครได้ที่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 142 อาคารทูแปซิฟิคเพลส ชั้น 15 ถนนสุขุมวิท คลองเตย กรุงเทพมหานคร โทร 02-6532900 ต่อ 9402 หรือ 9404 อีเมล th-recruitment@yum.com