กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--โครงการ พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด
กรมการแพทย์และสถาบันธัญญารักษ์ เผยตัวเลขผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในประเทศไทยสูงเป็นประวัติการณ์ 1.9 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วเกือบ 1 เท่าตัว ระบุเพิ่มกลุ่มเยาวชนน่าเป็นห่วงสุด เพราะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจแซงกลายเป็นกลุ่มติดยาอันดับ 2 ของประเทศ เพราะคำโฆษณาชวนเชื่อว่าเสพแล้วดี ด้านยาเสพติดที่มาแรงได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์ หวั่นปัญหาลุกลาม จึงใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกคิดตัดตอนด้วยการผนึกกำลังกับสื่อมวลชนเผยแพร่โทษของยาเสพติด พร้อมชักชวนผู้ติดยารับการบำบัด บอกชัดไม่ใช่เรื่องน่าอาย
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมการแพทย์จับมือกับสถาบันธัญญารักษ์ เปิดตัวโครงการ "พิราบอาสา ต้านภัยยาเสพติด" เน้นกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้วิชาการด้านยาเสพติด พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้วยการผนึกกำลังกับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ หวังช่วยสอดส่อง ป้องปราม และสร้างความเข้าใจว่าภาวะติดยาเสพติดสามารถรักษาให้หายได้เหมือนกับอาการป่วยไข้ ยิ่งเข้ารับการรักษาเร็วเท่าไรยิ่งเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นโยบายด้านการประชาสัมพันธ์เรื่องอันตรายของยาเสพติดเป็นวาระระดับชาติ ที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความใส่ใจร่วมกัน เนื่องจากปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวของคนใดคนหนึ่ง แต่หากเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องเผชิญกับความไม่สุขสงบในสังคม อันเนื่องมาจากผู้เสพก่อภัยอันตราย ทางกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และสถาบันธัญญารักษ์ จึงเห็นควรจัดงานอบรมสัมมนาความรู้วิชาการด้านยาเสพติด เป็นกิจกรรมเชิงรุกในโครงการ "พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2555 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ช่วยเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านดังกล่าวต่อสาธารณะสืบไป ซึ่งสถาบันธัญญารักษ์ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ ในฐานะ 1 ใน 3 ของคนไทยที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดขององค์การอนามัยโลก (WHO Expert Advisory Panel on Drug Dependence) ซึ่งถือเป็นการรับประกันคุณภาพของการให้ข้อมูลเชิงลึกและการรักษาดูแลได้เป็นอย่างดี
แพทย์หญิงวิลาวัลย์ กล่าวต่อว่า ที่ต้องเร่งดำเนินการโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องยาเสพติดให้สัมฤทธิ์ผลโดยไว เนื่องจากสถิติการติดยาเสพติดของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุชัดว่าตัวเลขผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งประเทศในปลายปี 2555 จะอยู่ที่ 1.9 ล้านคน เพิ่มจากต้นปี 2554 ที่มีจำนวนราว 1.2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้สถาบันธัญญารักษ์รวมกับกรมการแพทย์ สามารถช่วยบำบัดรักษา และฟื้นฟู แบ่งเป็นปี 2555 4 แสนคน และเป้าบำบัดรักษาในปี 2556 อีก 3 แสนคน รวมจะติดตามผลจำนวน 7 แสนคน ในปี 2556
ทางกรมการแพทย์ร่วมกับกรมสุขภาพจิต จึงพัฒนาเครื่องมือในการคัดกรอง ผู้ติดยาให้เข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ทั้งนี้รัฐบาลไทยถือว่าจัดงบประมาณในการบำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติดมากที่สุดในโลก
"ฉะนั้น จะเป็นการดีกว่าถ้าเราตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ถึงอันตรายของยาเสพติดว่ามีผลต่อสมองและร่างกายของคนเราขนาดไหน หวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ จะช่วยให้คนในสังคมไม่ตกเป็นเหยื่อกระบวนค้ายาเสพติด ช่วยลดปริมาณผู้เสพหน้าใหม่ และเข้าถึงข้อมูลว่าการเข้ารับการบำบัดอาการติดตาเสพติดไม่ได้น่ากลัว น่ารังเกียจ หรือน่าอาย อย่างที่คิด ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยปกป้องคนในยุคเจเนอเรชั่นใหม่ ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะทุกชีวิตมีความหมาย" อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำถึงจุดยืนของโครงการฯ
ด้านนายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อันเป็นแนวทางการทำงานของสถาบันธัญญารักษ์ ที่ทรงรับสั่งว่า “คนที่ติดยา เขาเป็นคนหรือเปล่า ในเมื่อเขาเป็นคน เรามีการช่วยเหลือเขาได้ไหม ถ้าช่วยเหลือเขาได้ เท่ากับชุบชีวิตใหม่ให้เขา ... เราก็ควรทำ” จึงกลายเป็นที่มาของการบริหารจัดการพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้เรื่องการบำบัดรักษา ฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ เตรียมการก่อนรักษา, ถอนพิษยา, ฟื้นฟูสมรรถภาพ และติดตามหลังการรักษา เน้นการให้ยาเพื่อให้เซลล์สมองฟื้นตัว เมื่อสมองดีขึ้นก็บำบัดด้านจิตใจ โดยฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด แบ่งการรักษาเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สมัครใจ, บังคับบำบัด และต้องโทษในราชทัณฑ์ ซึ่งสถาบันธัญญารักษ์มีเครือข่ายการบำบัดรักษาครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดประจำภาค ในจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดสงขลา, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดปัตตานี และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ
"สิ่งที่เราต้องมีเสมอในการรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดก็คือความเอาใจใส่ โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วยนั้นสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด ติดยาเสพติดชนิดไหน ติดมากหรือน้อย มีอาการทางจิตร่วมด้วยหรือไม่ อาทิ ผู้เสพยาบ้าแล้วหลอนอาละวาทนั้น เป็นเพราะมีอาการทางจิตมาก่อน แต่หากเป็นคนธรรมดามักไม่ค่อยมีอาการ จุดนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องอาศัยการสังเกตเอาใจใส่ เพราะบำบัดเรื่องยาเสพติดได้แล้ว ก็ต้องรักษาอาการทางจิตให้หายด้วย เราถึงจะได้คนปกติอย่างแท้จริงกลับคืนสู่สังคม และโดยปกติใช้เวลาบำบัดประมาณ 3-4 เดือนก็หายขาดเป็นปกติ แต่ถ้ามีอาการทางจิตร่วมด้วยก็ใช้เวลามากขึ้นจนกว่าอาการจะทุเลา" นายแพทย์จิโรจ ระบุ
นอกจากนี้ สถานการณ์ผู้ติดยาเสพติดในประเทศอย่างละเอียดปัจจุบันนี้ ไทยแบ่งผู้ติดยาเสพติดเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้เสพ (Users) หมายถึง มีการเสพยาเสพติดเป็นครั้งคราว มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง แม้ยังพอเรียนดูแลตนเอง เรียนหนังสือ ทำงานได้บ้าง
2. กลุ่มผู้เสพแบบอันตราย (Abusers) หมายถึง เป็นการเสพที่ทำให้เกิดอันตรายหรือปัญหา 1 ใน 4 ข้อดังนี้ คือ 1. ด้านครอบครัว 2. ด้านกฎหมาย 3. ด้านอันตรายจากการขับขี่ยานพาหนะ 4. ด้านสังคม การทำงาน การเรียนหนังสือ
3. กลุ่มผู้เสพแบบติด (Dependence) หมายถึง เสพแบบมีปัญหา อย่างน้อย 3 ใน 7 ข้อ คือ
- ดื้อยา อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ ต้องการใช้สารนั้นเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ หรือ จนเป็นพิษ (intoxication) ได้ผลจากการใช้สารนั้น ลดลงอย่างมากหากใช้ในขนาดเท่าเดิม
- ขาดยา อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ ขาดยาที่มีอาการเฉพาะในการหยุดหรือลดสารนั้น การใช้สารนั้นหรือสารที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกัน จะลดหรือกำจัดอาการขาดยาได้
- ใช้สารนั้นมาก, นานกว่าที่ตั้งใจ
- ต้องการใช้สารนั้นตลอด ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมการใช้ได้
- ยังคงใช้สารนั้นอยู่แม้รู้ว่าทำให้ปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจเลวลง
- ต้องเสียเวลามากเพื่อให้ได้สารนั้นมาในการเสพ หรือฟื้นจากฤทธิ์ของสารนั้น
- ต้องงด ลดหรือบกพร่องในการเข้าสังคม การทำงาน การพักผ่อนหยอนใจเนื่องจากการใช้สารนั้น
4. กลุ่มผู้เสพติดรุนแรง (…with comorbidity) หมายถึง กลุ่มผู้เสพ ที่มีปัญหา กาย จิต สังคม โรคร่วม
นายแพทย์จิโรจกล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ในปี 2555 หากจำแนกตามประเภทกลุ่มอาชีพพบว่า กลุ่มรับจ้างมากที่สุด 41.71% รองลงมาเป็นกลุ่มคนที่ว่างงาน 17.41% การเกษตร 16.81% ท้ายสุดเป็นกลุ่มเยาวชน 9.12 % ที่พบได้ตั้งแต่อายุ 18-29 ปี โดยในกลุ่มหลังนี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และอาจมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มว่างงานในไม่ช้านี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรวิตกและเร่งหาทางแก้ไข อย่างไรก็ตาม เหตุที่ให้คนติดยาเสพติดมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะหลงผิดไม่รู้เท่าทันว่าทุกครั้งที่เสพยาเสพติดไปทำลายสมอง คิดแต่ว่าทำให้คึกทำงานได้เยอะ หรือไม่ก็ถูกโฆษณาชวนเชื่อหลอกว่าเสพแล้วจะผิวขาว รูปร่างผอมหุ่นดี เป็นต้น
"ยาเสพติดที่ยอดฮิตที่ติดกันเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองจะมีอยู่ 2 ตัวหลัก ๆ ได้แก่ยาบ้า และยาไอซ์ ในกลุ่มยาบ้าจะเป็นชนชั้นแรงงานติดเยอะที่สุด ส่วนยาไอซ์มาจากการสกัดยาบ้าให้บริสุทธิ์มากขึ้น จึงมีความเข้มข้นของตัวแอมเฟตามีนมากขึ้น ออกฤทธิ์ร้ายแรง รุนแรง และรวดเร็วกว่ายาบ้า จะฮิตอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งนี้กลุ่มที่ขายยาบ้า มักจะทำเป็นกิจการครอบครัว แถมคนในครอบครัวก็เสพกับเกือบทุกคน การเลิกจึงทำได้ยาก เพราะแม้จะเลิกได้แล้วแต่ต้องกลับไปอยู่วังวนเดิม ๆ ก็เสพใหม่อีก ต่างจากลุ่มที่ขายเฮโรอีน กลุ่มนี้จะขายอย่างเดียวไม่เสพ ขณะที่นักโทษในคุกส่วนมากกว่า 60-70% ก็เป็นผู้ทำผิดเรื่องยาเสพติด จึงไม่แปลกที่สังคมมักได้ข่าวการลักลอบนำเข้ายาเสพติดหรือโทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อขายยาปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ" นายแพทย์จิโรจแจงเพิ่ม
ทั้งนี้ แพทย์หญิงวิลาวัณย์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยังย้ำถึงนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติด้วยว่า “หนทางตัดตอนไม่ให้ยาเสพติดระบาดในประเทศไทยได้อีก นอกจากความร่วมมือปราบปรามในระดับมหภาคแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการบำบัดฟื้นฟูในระดับจุลภาคก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และอยากให้สื่อมวลชนที่ร่วมโครงการ “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” นี้ ได้ร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลให้กับคนในสังคมด้วยว่า การติดยาไม่ใช่เรื่องผิด คนที่ติดยาไม่ใช่คนเลวที่มีความผิดติดตัวไปจนตาย และความผิดพลาดนี้สามารถแก้ไขได้ หากรู้ตัวว่าติดยาและต้องการเข้ารับการบำบัดไม่ใช่สิ่งที่แย่ แต่จะดีกับตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมด้วยซ้ำ เพราะเป็นการรักษาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขอเชิญชวนสื่อมวลชนที่สนใจไม่จำกัดสถาบันเข้ารับร่วมโครงการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้โดยติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ วิภากรณ์ 081-493-1303 คุณโชค 086-513-0270 คุณราเมง 080-941-0774 ซึ่งจะปิดรับสมัครเมื่อครบตามจำนวน โดยผู้สำเร็จหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตร “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” และเป็นสมาชิกเครือข่ายสำคัญของสถาบันธัญญารักษ์ต่อไป”
สื่อมวลชนสนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอนัดสัมภาษณ์
กรุณาติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” โทร. 081-586-4755 หรือ 081-310-4755
เกี่ยวกับสถาบันธัญญารักษ์
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 เป็นต้นมา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ได้เปิดดำเนินการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากโรงพยาบาลยาเสพติดเติมมาเป็นโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ก่อนจะปรับอีกครั้งให้เป็นสถาบันธัญญารักษ์ เพราะเน้นให้บริการด้านทางด้านวิชาการมากกว่าภารกิจบริการ
ปัจจุบัน สถาบันธัญญารักษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 60 ถ.พหลโยธิน ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีเนื้อที่ทั้งหมด 210 ไร่ ให้บริการด้านวิชาการ ทั้งการวิจัย การประเมินเทคโนโลยี ถ่ายทอดความรู้ และพัฒนานโยบายด้านการบำบัดรักษายาเสพติด รวมทั้งเปิดให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติดทุกประเภท ในระดับตติยภูมิ ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยในบำบัดด้วยยา 200 เตียง ฟื้นฟูสมรรถภาพ 600 เตียง โดยมีเครือข่ายการรักษาครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังการดำเนินงานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด กระทั่งมีศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดประจำภาค ในจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดสงขลา, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดปัตตานี และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ
เกี่ยวกับโครงการ “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด”
เป็นกิจกรรมอบรมความรู้วิชาการด้านยาเสพติดและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ บล็อกเกอร์ คอลัมนิสต์ สื่อมวลชนทุกแขนง และคณาจารย์ด้านสาขานิเทศศาสตร์ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษพิษภัยยาเสพติด และมีเจตคติที่ดีและถูกต้องต่อผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และสื่อความรู้ด้านยาเสพติดต่อประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้เกิดผลต่อประชาชนที่ได้รับสื่อความรู้จากสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ให้มีความเข้าใจเรื่องโรคสมองติดยา เกิดแนวทางการช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม เพื่อลดการเสพติดรายใหม่ ผู้ติดยาได้เข้ารับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการเสพติดซ้ำในกลุ่มผู้ผ่านการบำบัดรักษา
การสัมมนาจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2555 เวลา 9.00 — 12.00 น.
ณ อาคารปาร์คเวนเจอร์ ห้องวิคเตอร์ 2-3 ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS เพลินจิต
สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ วิภากรณ์ 081-493-1303 คุณโชค 086-513-0270 คุณราเมง 080-941-0774
ทั้งนี้ สื่อมวลชนเป้าหมายสมัครเข้ารับการอบรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผ่านการอบรม จะได้รับประกาศนียบัตรโครงการ “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” และของที่ระลึก