กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาทพัฒนาพื้นที่ 36 ไร่ เป็นอาคารเรียน และพื้นที่ส่วนขยายหวังเสริมศักยภาพนักศึกษาครบครัน เผยได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมเดินหน้ายกระดับหลักสูตรเทียบเท่าสากล รองรับการเปิดเออีซี มั่นใจในจุดแข็งของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะทั้งภาษาและวัฒนธรรมจีน/แพทย์แผนจีน มุ่งให้บัณฑิตเป็นคนดีและสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับ เพิ่มขึ้นอีก
นายกอบชัย ซอโสตถิกุล กรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและกรรมการสภามหาวิทยาลัย หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งนับแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 102 ปีก่อน มาจนถึงปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับภารกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ งานสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาลและการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของภาคการศึกษาที่นำมาสู่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้มาจากการรวบรวมเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธานำมาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยของคนไทยภายใต้ชื่อ ที่ได้รับพระราชทานว่า “ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เฉลิมพระเกียรติ ” โดยยึดแนวทางการเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม และเป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตให้ได้คุณภาพและคุณธรรม จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเปิดทำการเรียนการสอนครบ 20 ปี
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และรองรับทั้งคุณภาพและปริมาณนักศึกษาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ล่าสุดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ให้การสนับสนุนการจัดทำโครงการพื้นที่ส่วนขยายมหาวิทยาลัยฯเพิ่มขึ้น ด้วยงบประมาณราว 2 พันล้านบาท ในการสร้างพื้นที่ส่วนต่อขยายด้านหลังของมหาวิทยาลัย บนเนื้อที่ 36 ไร่ รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 101,176 ตารางเมตร
โดยโครงการนี้ จะช่วยยกระดับสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นต่อไป รวมถึงสามารถรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 เนื่องจากจะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมและสมบูรณ์แบบ เก่ง ดี มีคุณธรรม รองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานการศึกษา โดยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิชาการที่โดดเด่น ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะหลักสูตรเฉพาะทาง ที่ได้รับความสนใจในตลาดแรงงานสูงมาก เช่น คณะภาษาและวัฒนธรรมจีน , คณะการแพทย์แผนจีน และวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ มีหลักสูตรเฉพาะทางด้านจีนศึกษาราว 10 สาขาวิชา ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมมากที่สุดมหาวิทยาลัยหนึ่ง โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีนกว่า 40 สถาบัน ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ประเทศจีนประมาณ 300 คนต่อปี มีนักศึกษาจากจีนมาศึกษาที่ มฉก. ประมาณ 400 คน สำหรับโครงการพื้นที่ส่วนขยายฯนี้ ประกอบไปด้วย
อาคารเรียนและห้องปฏิบัติการ พื้นที่ใช้สอย 28,785 ตารางเมตร อาทิ ห้องปฏิบัติการภาษา ซึ่งเป็นห้อง computer zone / reading zone / activity zone ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สำหรับ Special Project ห้องปฏิบัติการคณะนิเทศศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ศาลจำลองของคณะนิติศาสตร์ และ สำนักงานของคณะวิชาและห้องทำงานอาจารย์
ห้องปฏิบัติการจำลองด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาชีพสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการเพื่อการท่องเที่ยว พื้นที่ใช้สอย 8,016 ตารางเมตร
อาคารหอพักศึกษาและหอพักบุคลากร พื้นที่ใช้สอย 39,622 ตารางเมตร เนื่องจากทำเลที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอยู่ในเขตชานเมืองทำให้นักศึกษาและบุคลากรไม่สะดวกในการเดินทาง มีความจำเป็นต้องอยู่หอพัก เพื่อประหยัดเวลา และมุ่งเน้นการสร้างผลงานวิชาการมากขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีบรรยากาศในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุขและมีกิจกรรมเพื่อสร้างทักษะชีวิตของการเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต ซึ่งปัจจุบันหอพักนักศึกษาสามารถบริการได้เพียง 1,525 คน ไม่เพียงพอกับความต้องการของนักศึกษา จึงพัฒนาพื้นที่เป็นอาคารหอพักแห่งใหม่ ซึ่งจะสามารถรองรับนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคคลากรของมหาวิทยาลัยได้อีกราว 3,000 คน
อาคารกีฬา-เอนกประสงค์ พื้นที่ใช้สอย 7,953 ตารางเมตร สำหรับนักศึกษาและบุคลากรได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และใช้สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬา มีสนามได้มาตรฐานตามชนิดของกีฬาพร้อมกิจกรรมของชมรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและคุณลักษณะของนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ต่อไป
อาคารที่จอดรถและศูนย์โภชนาการ พื้นที่ใช้สอย 16,800 ตารางเมตร เพื่อรองรับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อีกทั้งเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่จะจัดให้พื้นที่ส่วนขยายโครงการนี้เป็นพื้นที่ Car Free Zone โดยมหาวิทยาลัยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2556 และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน 2557
ด้านการพัฒนาหลักสูตร ผศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ รองอธิการบดี เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดเออีซี ซึ่งจะเกิดการโยกย้ายแรงงานระหว่างประเทศสมาชิก เป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานไทยสามารถทำงานในต่างประเทศได้ เช่นเดียวกับการเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นคนไทยจึงต้องเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะด้านภาษา เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยมหาวิทยาลัยฯเอง มีแผนพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และมหาวิทยาลัยยังมีแผนเปิดทำการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก ในหลักสูตรศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในปีการศึกษา 2556 ด้วย
อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยฯ ยังมีแผนพัฒนาและยกระดับด้านแพทย์เฉพาะทาง ประกอบไปด้วย คลินิคแพทย์แผนจีน ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 2 อาคารบริการ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไป ด้วยการรักษาแบบฝังเข็ม ครอบแก้ว และนวดทุยหนา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีผู้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ต้องขยายพื้นที่และบุคคลากรเพื่อรองรับกับผู้ที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีสวนสมุนไพรจีน ซึ่งเป็นแหล่งรวมสมุนไพรจีนนานาชนิดเพื่อให้นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้เรียนรู้ สวนสมุนไพรจีนของคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรตินับเป็นสวนสมุนไพรแห่งแรกของคณะการแพทย์แผนจีนที่มีในประเทศไทยเริ่มทดลองปลูกครั้งแรกกว่า 40 ชนิด ภายในสวนแห่งนี้มีสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาจีน อาทิ อ้ายเยี่ย(?? )หรือ โกฐจุฬาลัมพา(Leaf of Artemisia argyi Levl. et Vant.) ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยจีน ที่มีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาจีนทั้ง อบอุ่นเส้นลมปราณ ขจัดความเย็น ปรับสมดุลเลือด ห้ามเลือด อีกทั้งยังสามารถบดผงเพื่อใช้รมยาบนจุดฝังเข็มอีกด้วย นอกจากใช้ประกอบการเรียนการสอนในวิชาเภสัชวิทยาจีน และตำรับยาจีน สวนสมุนไพรแห่งนี้ของมหาวิทยาลัยยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการทำวิจัยด้านสมุนไพรจีนต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดทำการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ภาคปกติและหลักสูตรนานาชาติ และปริญญาโท จำนวน 13 คณะ 31 สาขาวิชา ซึ่งในปีการศึกษา 2555 มหาวิทยาลัยฯ มีจำนวนนักศึกษารวม 10,872 คน