กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--วช.
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการส่งออกและการจ้างงาน แต่อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมนี้จะสามารถปรับตัวในการแข่งขันในอนาคตได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของแรงงานไทยจะสามารถปรับตัวไปในทิศทางใด เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างฐานผลิตในเมืองไทยด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นายนิพนธ์ พัวพงศ์กร และนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทำการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของคุณภาพแรงงานต่อการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต : ศึกษากรณีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” โดยการวิจัยใช้แบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้จัดการฝ่ายบุคคล 4 อุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสารกึ่งตัวนำ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
ผลการวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและไต้หวัน แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมนี้ยังมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น การนำชิ้นส่วนในประเทศมาใช้น้อย อุตสาหกรรมมีมูลค่าต่ำ ขาดความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม
อื่นในประเทศ การที่โครงสร้างภาษีศุลกากรบิดเบือน นอกจากนี้ แรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มักมีระดับการศึกษาไม่สูงมากนัก ประมาณ 8 — 12.4 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ผลิตฮาร์ตดิสก์และมอนิเตอร์เป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำสุดประมาณ 8 — 9 ปีเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ตั้งแต่ระดับคนงานในสายการผลิตไปจนถึงช่างเทคนิคและวิศวกรมีปัญหาคุณภาพแรงงานค่อนข้างมากตลอดจนขาดความรู้พื้นฐานด้านงานช่าง ขาดความสามารถในการสื่อสารและทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่งงานวิจัยได้ให้คำเสนอแนะว่า ควรมีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวิจัยภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ยกระดับการศึกษาของประชากรในประเทศไทย ปฏิรูประบบการฝึกอบรมในภาครัฐ พิจารณาจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ศึกษาบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ และศึกษาสาเหตุกลไกของภาครัฐในการสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--