กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--มูลนิธิสื่อชาวบ้าน
ประเด็นสำคัญของการพูดคุยในครั้งนั้นน่าจะเริ่มต้นที่นี้ “มากไปกว่าความลื่นไหลของการเล่าเรื่อง ละครที่ดีควรมีคุณค่า อธิบายสังคม และเป็นเรื่องของประชาชน”
“ครูอุ๋ย” พรรัตน์ ดำรุง ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายมันอีกครั้งผ่านหัวข้อ “ต้นทางละครเพื่อประชาชน” ระหว่างกิจกรรม “ทราบแล้ว...เปลี่ยน เวทีสัมมนาองค์ความรู้ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง”ที่มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อปลายตุลาคมที่ผ่านมา
โดยที่พอจะขมวดปมเรื่องของงานละคร-ชุมชน-และศาสตร์ความเป็นศิลปะว่า ละครที่ดีไม่จำเป็นต้อง Art (เป็นศิลปะ) สูงส่ง จริงอยู่ที่องค์ความรู้ศิลปะแบบตะวันตกเป็นความรู้หนึ่ง แต่เวลาเดียวกันต้องมองให้ออกถึงความรู้ใกล้ตัว เห็นความเป็นไปในชุมชน อะไรที่เป็นรากเหง้า อะไรคือความดี ความงาม สิ่งใดคือวิถีปฏิบัติมาช้านาน และละครของเราจะเข้าไปมีส่วนตรงนั้น เป็นการสร้างมูลค่าของงานที่เข้ากับชุมชนได้ โดยที่นั่นคือมูลค่าความงามที่งดงามไม่แพ้นิยามความงามแบบอื่นใด
“คนปากหนาก็งามได้ในแบบของเขา ความงามมันมีองค์ประกอบจากวิถีชีวิตจริง สังคมไทยแยกศิลปะกับวิธีชีวิตจริงไม่ได้ บ้างคนเลี้ยงลูกไปดูลิเกไป หรือนั่งดูงิ้วก็ทานข้าวไปด้วย การชื่นชมศิลปะแบบนี้อาจท้าทายชนชั้นนำ แต่มันดำรงอยู่ในความเป็นจริง”
“ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ของทุกคนในวงสนทนานั้น จึงไม่ใช่การละเล่นเพื่อตอบโจทย์ของการ “เป็นอื่น” ทำนองลักษณะอ้างอิง ถ่ายทอดเรื่องราวจากวรรณกรรมชั้นเยี่ยม หรือเลียนความสมบูรณ์แบบในทุกๆ กิริยาบท ทว่ามันต้องตอบสนองสังคมที่ “เป็นจริง”ผ่านการสังเกต คลุกคลี เฟ้นหาความงดงามเฉพาะตัว ระคนความมุ่งหวังให้สังคมที่อยู่มีคุณภาพดีขึ้น ประหนึ่งเป็น“ละครประชาชน” จากประชาชนในสังคมเดียวกันเอง
“ชุมชนมันควรจะดีขึ้นนะเมื่อได้รับการสื่อสารอย่างจริงใจ เคยมีเด็กในโครงการฯมาถามว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นี้เรียกว่าศิลปินหรือไม่ เพราะเขาไม่ใช่แค่ไปแสดง แต่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งกับชาวบ้าน ไปศึกษาปัญหา ไปร่วมพัฒนาเหมือนเอ็นจีโอ คำถามนี้ครูยังไม่ตอบ เพราะไม่คิดว่าศิลปินจะเกิดขึ้นได้เพราะทำงานแค่3เดือนหรือ3ปี แต่ถ้าเขาทำงานไปเรื่อยๆ คำถามนี้อาจไม่สำคัญก็ได้ แต่พวกเราเชื่อว่าศิลปะที่ดีน่าจะรับใช้สังคม บอกเล่าประเด็นอย่างแยบยล มีศิลปะ ทำให้สังคมมีสาระขึ้น”ครูอุ๋ยว่า
ตัวอย่างระหว่างกิจกรรมครั้งนั้น น่าจะเป็นละครเยาวชนเรื่อง “พะยูงต้นเดียว” จากกลุ่มเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นไปของบ้านเกิดหลังพื้นที่ป่าที่คุ้นเคยถูกรุกล้ำจากขบวนการตัดไม้ และทำให้ต้นพะยูงขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน ที่แฝงด้วยศรัทธา ความเชื่อ ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา
“แต่มันไม่ใช่การเข้ามาแอบตัดไม้แบบที่เคยได้ยิน เพราะเรื่องนี้ทำเป็นขบวนการ และมีคนในชุมชนได้ประโยชน์จากไม้พะยูงต้นนี้ พวกเขาซื้อคนในชุมชนให้มาร่วมด้วย เริ่มจากทำพิธีอัญเชิญผีตา-ยายที่เฝ้าป่าไป ช่วยดูต้นทาง เจรจากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จนถึงเอาไม้ต้นนั้นออกไปจากชุมชน” ปอนด์-สุชานันท์ คิดชนะ นักศึกษาชั้นปี1 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในกลุ่มเด็กรักป่า เล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ณ ต.สำโรง อ.เมือง จ.มหาสารคามบ้านเกิด
ประเด็นทีว่าเคยเป็นข่าวสั้นๆตามหน้าสื่อไม่กี่วันก่อนจะเงียบหายไป เกินกว่าเจ็บใจที่สูญเสียคือการนึกไม่ถึงที่คนในชุมชนด้วยกันเองจะเปลี่ยนไป “ละครประชาชน”แบบฉบับกลุ่มเด็กรักป่า จึงหวังอธิบายความซับซ้อนของปัญหา เพราะมากไปกว่าเรื่องของกลุ่มทุนกับชาวบ้านเช่นเก่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม้พะยูงที่ชุมชนรักและหวงแหนต้องจากไป เป็นเพราะคนในชุมชนเดียวกันนี่เองที่เป็น “ไส้ศึก” เอื้อประโยชน์ให้ขบวนการตัดไม้กระทำการสำเร็จ ละคร “พะยูงต้นเดียว”จึงเป็นอุทาหรณ์เตือนใจบอกคนในชุมชนให้ตระหนักและชั่งน้ำหนักระหว่างอามิสสินจ้างกับความสูญเสีย
“ละครพะยูงต้นเดียว” จึงเป็นทั้งคุณค่าและความงามของพวกเขาที่ส่งผ่านบทละครร่วมสมัยมายังผู้ชมส่วน “เอียด สิทธิพงศ์ สังข์เศรษฐ์ บัณฑิตหนุ่มคนใต้ กลุ่ม “มะนาวหวาน” จ.สงขลา บอกอุดมการณ์ของตัวเองในการทำงานละคร ผ่านหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงหลากมิติจากมุมมองนักปฏิบัติ”ว่า ตลอด2-3ปีที่ทำกิจกรรมมา ความตั้งใจที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือการหวังใช้ละครเป็นเครื่องมือเพื่อ “บอกข่าว” ที่เกิดขึ้นในชุมชน
“ผมมองว่าเรื่องใหญ่ที่บ้านผมคือมันกำลังจะไม่เหมือนเดิม มันมีข่าวแทบทุกช่วงว่าจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ทำโรงงานแยกก๊าซ ท่าเรือน้ำลึก และนั่นมันทำให้เราต้องตั้งคำถามไปว่าความไม่เหมือนเดิมแบบนี้เราทำอะไรกับมันได้บ้าง ผมไม่ได้ปฏิเสธความเจริญนะ แต่ระหว่างที่จะทำอยากให้คนในชุมชนเขารู้ด้วย ให้เขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ได้ทำประชาคม เลือกจากข้อมูลผลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) เสียก่อน ไม่ใช่ให้คนไม่กี่คนมาชี้บอกว่าเราต้องรับกับอะไรบ้าง พวกผมนี่แหละหวังจะเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่จะเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้”
ละครของกลุ่ม “มะนาวหวาน”จึงอธิบายเรื่องประชาชนปลายด้ามขวานกับการรุกล้ำพื้นที่จากภาคอุตสาหกรรมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เรื่องแล้วเรื่องเล่า ทั้งนี้นั่นก็เพื่อหวังว่าผลงานที่ออกมาจะมีมูลค่าพอจะรับใช้สังคมบ้าง ไม่มากก็น้อยระหว่างทางของนักละครประชาชน จึงเต็มไปด้วยสำนึก ความหวัง สาระ และเสียงหัวเราะจะเป็นศิลปะกี่มากน้อย หรือยังห่างไกลกับคำว่า “ศิลปิน” ก็ช่างมันประไร