สกว.ขอเชิญสือมวลชนและผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมงาน "วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น..เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง"

ข่าวทั่วไป Friday October 8, 2004 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สกว.
เชิญชวนร่วมงาน “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง”
สกว.เชิญชวน ครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมชมผลงานและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ กับครูทั่วประเทศ ที่มาร่วมแสดงผลงานใน “งานประชุมวิชาการ วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง” ในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ
“งานวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เป็นงานที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ให้ทุนกับครูทั่วประเทศ เพื่อที่ครูได้ผ่านกระบวนการวิจัย เรียนรู้การวิจัย เน้นไปที่การพัฒนาครู โดยให้ครูหยิบยกเอาเรื่องท้องถิ่นขึ้นมา แล้วให้เขาไปหาวิธีการว่าจะสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากท้องถิ่นได้อย่างไร แล้วเอามาออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะนำไปสอนเด็กในท้องถิ่นนั่นเอง” รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวถึงความหมายของโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น
“โครงการนี้จะเน้นไปที่การพัฒนาให้ครูเก่งขึ้น ในด้านการสอนวิทยาศาสตร์ โดยที่จะต้องไปตั้งโจทย์วิจัยจากเรื่องราวในท้องถิ่น จากนั้นลงไปค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง ไปสัมผัสท้องถิ่นด้วยตนเอง ดังนั้นครูจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าตัวเขาได้เรียนรู้ เขารู้ว่าจะไปหาความรู้ในท้องถิ่นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชน ผู้นำชาวบ้าน สถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์”
โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ที่เป็นงานวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับท้องถิ่นจากครูทั่วประเทศมีอยู่ทั้งหมด 44 โครงการ ซึ่งเมื่อครูได้ลงไปทำงานสัมผัสพื้นที่ท้องถิ่นแล้ว ก็สามารถเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ของพื้นที่ด้วย เช่น มิติทางสังคม ทางวัฒนธรรมประเพณี ตัวอย่างเช่นเรื่องหลักสูตรโคมลอย ทำให้สืบสาวไปได้ถึงอดีต ว่าแต่ก่อนนั้นสร้างโคมลอยขึ้นมาเพื่ออะไร เป็นวิถีชีวิตอย่างไร แต่ว่าในขณะเดียวกันโคมลอยก็สามารถใช้เป็นตัวอย่างในการสอนเรื่องพลังงานได้ด้วย เรื่องความร้อนทำให้ลอยตัว ครูสามารถพัฒนาเป็นสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง
โครงการวิทยาศาสตร์สนุกๆ กระตุ้นการเรียนรู้เช่นนี้ จะมีการจัดแสดงพร้อมทั้งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างคุณครูผู้ทำโครงการ นักเรียนผู้ร่วมทำงาน รวมถึงผู้บริหารของโรงเรียนที่เป็นแหล่งต้นทางโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นนั้นด้วย โดยจะมีโครงการเด็ดๆ มาร่วมแสดงผลงานถึง 20 โครงการ อย่างเช่น นาข้าวรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ , น้ำพุร้อนแม่จัน เชียงราย , การอนุรักษ์หอยนางรมตามธรรมชาติ บ้านแหลม ตรัง หรือ แมลงหกขาพาสนุก บุรีรัมย์ เป็นต้น พบกับโครงการเหล่านี้และอีกมาก ได้ใน การประชุมวิชาการ วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2547 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 8.00 — 16.30 น. พร้อมต้อนรับ ครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิด และเรียนรู้ร่วมกัน
ทั้งนี้ รศ.สุชาตา กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกับครูผู้เข้าร่วมโครงการว่า “คุณครูในโครงการมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าพอใจมาก คือมีความมั่นใจมากขึ้น ที่จะทำการสอนสิ่งใหม่ๆ ที่มีการนำเอาประเด็นท้องถิ่นเข้ามาเชื่อมโยง เอาชุมชนเข้ามาเกี่ยว ซึ่งโครงการนี้ได้ความเป็นท้องถิ่นเยอะมาก อย่างพันธุ์ปลาที่อยู่ในหนองน้ำนี้ ไม่มีใครทำได้นะ นอกจากคนที่อยู่ตรงนั้นในพื้นที่ พันธุ์ปลา พันธุ์ไม้ ระบบนิเวศ พอสืบสาวเรื่อยขึ้นไป มันทำให้เกิดสำนึกท้องถิ่นขึ้นมาด้วย ของแบบนี้ไม่เกิดขึ้นในห้องเรียน ความที่ไปสัมผัสจริง จะทำให้เกิดเจตคติที่ดีขึ้นมา เกิดความภูมิใจในทรัพยากรท้องถิ่นนั้นๆ และเกิดความหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่นในที่สุด"--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ