กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กรมสุขภาพจิต
เนื่องจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาจมีสิ่งยั่วยุที่ทำให้นักเรียนต้องประสบกับปัญหา“ความล้มเหลวทางการเรียน”ซึ่งเป็นวิกฤติหนึ่งที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายให้สถานศึกษาทุกแห่งมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อส่งเสริมสนับสนุน กระตุ้นให้เด็กรักเรียนและได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมะสมโดยการมีส่วนร่วมของครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษา และบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา
นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุลนายแพทย์เชี่ยวชาญกลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตกล่าวว่าเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมพัฒนาเด็กนักเรียนให้รักการเรียนหนังสือ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะในการดำรงชีวิต รอดพ้นจากวิกฤตทั้งปวง โรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์สังกัดกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต6(สพม.6)และเทศบาลตำบลแพรกษา จัด “โครงการพัฒนาศักยภาพของเด็กวัยเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ” ขึ้น ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้ได้มีการแนะนำให้ครูที่เข้ารับการอบรมกว่า 700 ท่าน นำเทคนิคเชิงบวกไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน โดยจะให้ครูทุกท่านทำการคัดเลือกนักเรียน 1 คน เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามวิธีการของตนเอง หลังเสร็จโครงการมีครูจำนวน 500 ท่านที่ได้จัดส่งผลงานในรูปแบบของบันทึกความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องเล่าความสำเร็จจากการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน ให้ได้พัฒนาตนจนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นในภาคเรียนถัดมา
ผลจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ก่อกำเนิดเรื่องราวดีๆมากมาย และถูกนำมาถ่ายทอดลงในหนังสือที่มีชื่อว่า“เรียง...ร้อยเรื่องเล่าความสำเร็จของการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยเทคนิคเชิงบวก” ถึงหนึ่งร้อยเรื่อง เพื่อนำเสนอเป็นตัวอย่างของวิธีการช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน โดยเฉพาะเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำให้มีพฤติกรรมการเรียนที่ดีขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาตนเองและความสำเร็จในอนาคต พร้อมทั้งได้คัดเลือกผลงานดีเด่นในการใช้เทคนิคเชิงบวกเพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนจำนวน 10 รางวัล มานำเสนอผ่านเวทีเสวนาในการจัดกิจกรรมตลาดนัด "เรื่องเล่าแห่งความสำเร็จในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิทกรุงเทพ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 55 ที่ผ่านมาด้วย
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์ระจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่าการจัดกิจกรรมตลาดนัด "เรื่องเล่าแห่งความสำเร็จในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน” ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ครูอาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และวิธีการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยเทคนิคเชิงบวก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการเรียนการสอนของไทย ทำให้การเรียนรู้ของเด็กนักเรียนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น การให้ความช่วยเหลือนักเรียนของครูสามารถนำกระบวนการทางจิตเวชมาประยุกต์ใช้ได้ แม้ครูจะไม่สามารถแก้ไขวิธีคิด อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ของนักเรียนได้จนหมดแต่ครูก็สามารถเป็นผู้รับฟังความทุกข์หาแหล่งทรัพยากรเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับนักเรียนได้ ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกการช่วยเหลือด้วยวิธีนี้ว่าการให้ความช่วยเหลือแบบประคับประคอง
ปัจจุบันมีครูหลายท่านที่สามารถดูแลช่วยเหลือนักเรียนในเชิงลึกได้มากขึ้นเช่นครูสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ทัศนคติที่มีต่อโลก ต่อคนรอบข้าง แม้กระทั่งบางราย ครูก็สามารถจัดการความขัดแย้งในครอบครัวของนักเรียนที่สะสมมานานได้ จะเห็นได้ว่าการให้ความช่วยเหลือของครูมักจะมีความเมตตา และมีความปรารถนาดี จนสามารถเรียกได้ว่าเสมือนการทำงานของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเลยทีเดียว เพราะครูมีโอกาสสร้างความผูกพันทางความรู้สึกจากการเป็นคนในละแวกเดียวกันที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นในการให้ความช่วยเหลือในเชิงลึกที่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะไม่มีแต่ครูมี ครูสามารถใช้เพียงความเข้าใจชีวิต สิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด นำมาถ่ายทอดชี้แนะให้นักเรียนเดินถูกทาง การช่วยเหลือก็จะสัมฤทธิ์ผลได้เป็นอย่างดี
ส่วน ดร.นิวัตต์ น้อยมณี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต6 กล่าวว่า ครูส่วนมากจะมีเทคนิคเชิงบวก ที่เกิดจากความช่างสังเกต และการใส่ใจในรายละเอียด จนสามารถมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนของตน ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตจากพฤติกรรมหรือความประพฤติ เช่น มาเรียนสาย แต่งกายผิดระเบียบ ขาดเรียน ไม่รับผิดชอบต่อการเรียน เงียบ หงอย แยกตัว ไม่เข้าสังคมกับเพื่อน ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ครูสามารถแก้ไขได้ ครูต้องใช้กระบวนการในการทำให้เด็กรู้สึกอยากเรียน เช่น สร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักให้เขาเห็นถึงคุณค่าที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญครูต้องทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเด็ก และแน่นอนว่า เมื่อเด็ก มีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเชิงบวก หรือเชิงลบ เด็กก็จะมาเล่าให้ฟัง ครูเองก็จะได้ให้คำชี้แนะที่ถูกต้อง การมีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับของคุณครูก็จะส่งผลให้เด็กรักเรียน จนผลการเรียนของเด็กดีขึ้นตามลำดับ