กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--พม.
ร่วมแสดงพลังยุติความรุนแรงฯ ในงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕” “สุภาพบุรุษยุติความรุนแรง” วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่าในปัจจุบัน ปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อมูลทางเอกสารของ UN Women พบว่า ปัญหาความรุนแรงทางร่างกายต่อคู่ของตนเอง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ.2544 — 2553) มีข้อมูลอยู่ 75 ประเทศ ประเทศไทย เป็นลำดับที่ 36 ปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อคู่ของตนเอง มีข้อมูลอยู่ 71 ประเทศ ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 7 ความเชื่อที่ว่าสามีตีภริยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ พบว่า มีข้อมูลอยู่ 49 ประเทศ ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2
และจากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2547 มีเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายและมารักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 6,951 ราย หรือ 19 รายต่อวัน แต่ในปี 2553 มีจำนวนถึง 25,744 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 71 รายต่อวัน หรือในทุก 20 นาที จะมีเด็กหรือสตรีถูกทำความรุนแรง 1 ราย ซึ่งผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่เป็นคนในครอบครัว
ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวเกิดจากเรื่องของทัศนคติ และค่านิยมของสังคมไทยที่มองว่า ความรุนแรงต่อสตรี และบุคคลในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับได้ โดยมีรากเหง้าของปัญหามาจากความเชื่อ และค่านิยมดั้งเดิมที่เชื่อว่า ภริยาเป็นสมบัติของสามี และลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ ลูกผู้หญิงถูกอบรมสั่งสอนให้ว่านอนสอนง่าย และเมื่อแต่งงานก็ต้องเชื่อฟังสามี เป็นผู้ตามที่ดี ในขณะที่ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้ดูแลคุ้มครองผู้หญิงและเด็ก เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำที่มีสิทธิตัดสินใจเด็ดขาดในบ้านการใช้อำนาจควบคุมเช่นนี้ จึงนำมาซึ่งการกระทำความรุนแรงต่อสตรี และคนในครอบครัว การจะแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างแท้จริงจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนที่ความเชื่อ และค่านิยมเดิมๆที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมา เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใครหรือกระทำชำเรากับใครได้ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้จากมติของคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชน ได้ระดมความร่วมมือในการจัดกิจกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศ ตลอดทั้งเดือน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และครอบครัว
ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิของตนเองในการใช้กฎหมาย อันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี อีกทั้งเพื่อให้สังคมทุกภาคส่วนได้ร่วมมือเพื่อยุติความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้ริบบิ้นสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่ และจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
สำหรับกิจกรรมยุติความรุนแรงในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กำหนดจัด “งานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕” ในแนวคิด “สุภาพบุรุษยุติความรุนแรง” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ — ๑๗.๐๐ น. ณ บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างกระแสเกี่ยวกับ การรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ รวมทั้งรณรงค์เรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
โดยกิจกรรมที่น่าสนใจในงานวันรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ซึ่งจัดขึ้น บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ในช่วงเช้า ประกอบด้วย
- การอภิปรายเรื่อง “ความรุนแรงเรื่องบ้านๆ งานของพวกเรา” โดย.. นางเกษร ศรีอุทิศ ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ ลด ละ เลิกเหล้า
-การอภิปรายยุติความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิงและครอบครัว โดย นางสุวรรณา พิสุทธิโกเมน ประธานเครือข่ายชีวิตใหม่ ไร้แอลกอฮอล์
-การอภิปรายเรื่อง “สานมือ ร่วมสร้างสุขภาวะ ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัว”โดย... รศ. กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ,นางสาววราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ,พญ. พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และนางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา
กิจกรรมในช่วงบ่าย ประกอบด้วย การแสดงละครสะท้อนความรุนแรงในสังคม จากคณะใบไม้ไหว การติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว แก่สุภาพบุรุษยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว พิธีมอบโล่เกียรติคุณ และโล่รางวัล โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม อันได้แก่ โล่รางวัลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานแก่ผู้ชนะเลิศ ในการประกวดภาพยนตร์ จำนวน ๑ รางวัล โล่รางวัลรองชนะเลิศ รางวัลชมเชย รางวัลภาพยนตร์ตัวอย่างและโปสเตอร์ ภาพยนตร์สะท้อนสังคมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรง ในครอบครัว จำนวน ๖ รางวัล โล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานและบุคคลต้นแบบของการกระทำความดี เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว จำนวน ๑๕ รางวัล
และพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัวตาพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ. ๒๕๕๐ ระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน ๔๓ หน่วยงาน กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอเชิญชวนหน่วยงาน และประชาชนทุกเพศ ทุกวัยร่วมแสดงพลัง “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงฯ สามารถแจ้งเหตุ หรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทร ๑๓๐๐ ทั่วประเทศตลอด ๒๔ ชั่วโมง