กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ซี.พี. อินเตอร์เทรด
เครือ ซี.พี. เปิดตัว 3 โปรเจ็กต์ใหญ่ สนับสนุนไทยขึ้นผู้นำตลาดเออีซี ปี’58 ทางด้านศูนย์กลาง โรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวทันสมัยและเป็นเจ้าแรกของเมืองไทยบุกเบิกฮับขนส่งทางน้ำ พร้อมย้อนวิถีไทยผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด “ความทรงจำ” จากทุ่งนาสู่โรงงาน ตอกย้ำ “ข้าวตราฉัตร แบรนด์ข้าวหอมมะลิไทย เบอร์ 1 ของประเทศ ดีที่สุดของโลก”
นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ รับผิดชอบธุรกิจข้าวและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์พร้อมสนับสนุนการยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวสาร คลังจัดเก็บสินค้าข้าว และท่าเรือขนส่งทางน้ำ ที่ทันสมัยเป็นผู้บุกเบิกรายแรกของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ปี 2558 โดยได้ลงทุน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการข้าวนครหลวง, โครงการท่าเรืออยุธยาและไอซีดี และโครงการภาพยนตร์โฆษณาชุด “ความทรงจำ” เปิดตัวพร้อมกันวันนี้ ณ โรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โครงการฯ ที่ลงทุนทั้งหมดมุ่งสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยทุ่มงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท จัดทำศูนย์กลางโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่มีท่าเรือขนาดใหญ่ บริการครบวงจร และทันสมัยที่สุดในโลก ประสิทธิภาพเทียบเท่าท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งท่าเรือกรุงเทพฯ และแหลมฉบัง
นายสุเมธฯ กล่าวว่า โครงการข้าวนครหลวง หรือ โรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวนครหลวงแบบครบวงจร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 270 ไร่ ด้วยสถาปัตยกรรมการออกแบบอาคารโดดเด่น เมื่อมองจากด้านบน จะเห็นเป็นรูปทรงเมล็ดข้าวงดงาม ส่วนภายในอาคารโรงงานได้ลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีกำลังการผลิต วันละ 3,600 ตัน/วัน หรือกว่า 1,080,000 ตัน/ปี ข้าวที่ผลิตได้จากโรงงานแห่งนี้ จะส่งออกตลาดต่างประเทศ 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หรือกว่า 120 ประเทศทั่วโลก
ในแต่ละขั้นตอนการผลิตใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง ตลอดกระบวนการผลิต ประกอบด้วย เครื่องทำความสะอาด ที่ใช้คัดแยกสิ่งเจือปนที่ใหญ่กว่าข้าว, เครื่องแยกหิน ที่ใช้คัดแยกสิ่งเจือปนที่หนักกว่าข้าว, เครื่องขัดมัน ที่ใช้ในการทำความสะอาดผิวข้าวให้สะอาดมันวาว, เครื่องตะแกรงเหลี่ยม ที่ใช้ในการคัดแยกข้าวเต็มเมล็ด, เครื่องตะแกรงกลม ที่ใช้ในการแยกความยาวเมล็ดที่ต้องการ พร้อมทั้งเครื่องแยกสี ที่ใช้ในการคัดแยกสิ่งเจือปนที่ขนาดใกล้เคียงเมล็ดข้าว รวมทั้งสิ่งเจือปนที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น แก้ว หรือเม็ดพลาสติก ด้วยกล้องเอ็นไออาร์ เซ็นเซอร์พิเศษ ที่ตรวจจับ คัดแยกออกได้
นอกจากนี้ยังมีไซโล สำรองข้าวสาร ไว้ในอาคารผลิต ได้มากถึง 83,600 ตัน แบ่งเป็น ไซโลขนาด 1,600 ตัน/ไซโล จำนวน 36 ไซโล และ ไซโลขนาด 1,300 ตัน/ไซโล จำนวน 20 ไซโล
สำหรับข้าวสารที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพเรียบร้อย จะถูกบรรจุด้วยเครื่องบรรจุอัตโนมัติ ประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีความสามารถบรรจุ และแพ็คลงถุง ได้มากกว่า 4,000 ตัน/วัน พร้อมระบบตรวจจับโลหะ และเครื่องทวนสอบน้ำหนักหลังการบรรจุ และแพ็คลงถุง ทุกถุง 100% มั่นใจในคุณภาพ(ปี 2555 ข้าวตราฉัตร มียอดจำหน่ายในประเทศ จำนวน 350,000 ตัน มูลค่า 9,500 ล้านบาท คาดว่าจะโตขึ้น 16% จากปี 2554 และส่งออกต่างประเทศ จำนวน 604,000 ตัน มูลค่า 14,000 ล้านบาท คาดว่าจะโตขึ้น 2.2%)
ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สามารถขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ได้สูงสุด 500,000 ตู้/ปี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี สนับสนุนกลยุทธ์การขนส่งของภาครัฐ โดยใช้ความได้เปรียบการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศไทย สำหรับการขนส่งสินค้าของข้าวตราฉัตร เน้นการขนส่งทางเรือ สามารถขนส่งได้ จำนวน 1,500 ตัน/เที่ยว เทียบเท่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก 50 เที่ยว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการจราจรรถบรรทุกบนท้องถนน ได้ในระยะยาว
ขณะเดียวกันจะประหยัดการใช้น้ำมันลง เช่น เส้นทางการขนส่ง ระหว่างพระนครศรีอยุธยา-กรุงเทพฯ ลดลงได้ไม่น้อยกว่า 15 ลิตร/ตู้/เที่ยว หรือ 3 ล้านลิตร/แสนตู้ และจุดได้เปรียบของสถานที่ตั้ง คือ อยู่จุดศูนย์กลางธุรกิจรายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมหลัก 4 แห่ง คือ นิคมสหรัตนนคร ระยะทางห่างกันเพียง 9 กม. นิคมโรจนะ ระยะทาง 22 กม.นิคมไฮเทค ระยะทาง 32 กม.นิคมบางปะอิน ระยะทาง 35 กม. และนิคมเหมราช ระยะทาง 42 กม.
อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขนส่งให้แก่ผู้ใช้ จากบริการขนส่งสินค้าทางน้ำเลียบชายฝั่งหรือลำเลียง สร้างความเที่ยงตรงในการรับมอบ-ส่งมอบสินค้า มีขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าได้ครั้งละ 40-60 ตู้/เที่ยวเรือ รองรับสินค้าได้ปีละ 500,000 ตู้/ปี
สำหรับโครงการท่าเรือขนส่งสินค้าครบวงจร ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ท่าเรือชายฝั่ง (coast port) ในพื้นที่ 14 ไร่ ความยาวหน้าท่า 276 เมตร ระดับความลึกหน้าท่า 4.5 เมตร รองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์และเรือสินค้าทั่วไปขนาดความยาวประมาณ 50 เมตร กินร่องน้ำลึกสูงสุด 3.5 เมตร รับได้พร้อมกันครั้งละ 5 ลำ ส่วนที่สอง ไอซีดีในพื้นที่ 80 ไร่ ใช้เป็นสถานที่ตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร
ส่วนโครงการภาพยนตร์โฆษณาข้าวตราฉัตรความยาว 1 นาที จะออกสู่สายตาประชาชนใน ธีม “ความทรงจำในวัยเด็ก” ได้รับเกียรติจาก คุณบี๋-ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ช่างภาพมืออาชีพเป็นผู้ทำโปรดักชั่น และได้รับเกียรติจากคุณหนิง-นิรุตต์ ศิริจรรยา นักแสดงรุ่นใหญ่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ร้อยเรียงเสียงถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำในวัยเด็ก ที่มีต่อข้าวไทย ยังคงเก็บไว้อยู่เสมอ โดยนำเสนอเรื่องราว ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาเป็นภาพ จากทุ่งนาสู่โรงงาน คนไทยเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค คือ ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทย ที่นำมาหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นของพนักงานเครือ ซี.พี.ทุกคนที่ใส่ใจต่อ “ข้าวไทย” และความผูกพันธ์กับองค์กร เติมเต็มความมั่นใจให้อุตสาหกรรมข้าว ก้าวสู่มาตรฐานโลกอย่างแท้จริง
อีกทั้ง “ข้าวตราฉัตร” ตอกย้ำ “ข้าวหอมมะลิไทย ยอดขายดี เป็นแบรนด์อันดับ 1 ของประเทศ (ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน)” จากผลสำรวจของ AC Neilsen หรือ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปานี ซึ่งข้าวหอมมะลิตราฉัตร สามารถครองใจผู้บริโภคในประเทศ ด้วยคุณสมบัติ ข้าวคุณภาพดี การันตีโดยรางวัล “ข้าวที่ดีที่สุด” หรือ World Best Rice Award 2009 จากงานสัมมนาข้าวโลก