ต้นทุนการผลิตพุ่ง! กระทบดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม ต.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 วอนรัฐยื่นมือช่วยไขก๊อก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2012 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม 2555 จำนวน 1,153 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 32.3,39.1 และ 28.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.9, 14.3, 10.9, 15.0 และ 12.9 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.1และ 18.9 ตามลำดับ โดยจากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 93.0 ลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือนกันยายน ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ทั้งนี้ค่าดัชนีปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และค่าดัชนีต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนตุลาคม ได้แก่ ความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก อย่างไรก็ตามการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องเห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.8 ลดลงจากระดับ 103.5 ในเดือนกันยายน ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงจากในเดือนกันยายน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลางดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 84.9 ลดลงจากระดับ 89.6 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมสมุนไพร, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้นขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงจากระดับ 101.3 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 99.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.8 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.1 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 93.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.5 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้นขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.5 ลดลงจากระดับ 102.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนตุลาคม พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคกลางและภาคใต้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้น ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยบวกของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลางในเดือนตุลาคม ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน สะท้อนจากดัชนียอดรับคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และดัชนีมีค่าเกิน 100 สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.2 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 85.7 ปรับลดลงจากระดับ 90.1 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคเหนือในเดือนตุลาคม ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาการปรับราคา ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.4 ลดลงจากระดับ 103.7 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 85.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.7 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคม ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบและวัตถุดิบมีราคาสูง นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ยังเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์, อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.8 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคใต้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 90.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.1 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในภาคใต้ ในเดือนตุลาคม พบว่า การดำเนินกิจการโดยรวมกระเตื้องขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการบริโภคในพื้นที่ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากผลผลิตภาคเกษตร การขยายการลงทุนในพื้นที่ ตลอดจนเข้าสู่ฤดูกาลการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ และภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 97.6 ลดลงจากระดับ 104.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกในเดือนตุลาคม ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อดัชนียอดรับคำสั่งซื้อและยอดขายลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, อุตสาหกรรมก๊าซ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.1 ลดลงจากระดับ 110.6 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงจากเดือนกันยายน กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 95.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น, หัตถอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.8 ลดลงจากระดับ 103.3 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 83.4 ลดลงจากระดับ 90.3 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 ลดลงจากระดับ 103.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกมากที่สุด รองลงมา คือ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยสภาวะจากเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนตุลาคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) และควบคุมราคาพลังงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยต่ออายุการผ่อนผันให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถใช้แรงงานต่างด้าวได้จัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อเครื่องจักรทดแทนแรงงานสำหรับธุรกิจ SMEs ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร รวมถึงอยากให้มีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ