กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--โอเพ่นเฟซ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที และ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมโครงการนำร่องทดลองใช้ Braincloud Solution แพล็ตฟอร์มอัจฉริยะและอินเตอร์เน็ตไร้สายความความเร็วสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนผ่านแท็บเล็ต ป.1
บริษัท โอเพ่นเฟซ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวเปิดตัวโครงการนำร่องทดลองใช้ Braincloud Solution ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มระบบจัดการการเรียนรู้ เสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนผ่านแท็บเล็ตนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี Virtual Fiber ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง สนองนโยบายแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย หรือ One Tablet Per Child (OTPC) โดยมี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ นางฉวีวรรณ คลังแสง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมโครงการ
นายธันธเนศ สมบูรณ์ทรัพย์ ประธานบริหารโครงการ กล่าวว่า “โครงการทดลองระบบ Braincloud Solution เป็นการนำสองเทคโนโลยีสำคัญมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานของเครื่องแท็บเล็ต พีซี และระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการทดลองระบบ Braincloud Solution ประกอบด้วย 1. การทดสอบอุปกรณ์ Braincloud Virtual Fiber ซึ่งทำหน้าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากเสาสัญญาณของ TOT มาสู่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และ 2. การใช้งานระบบการจัดการการเรียนรู้ หรือ Learning Management System (LMS) ภายใต้ชื่อระบบ Braincloud Platform
ระบบการจัดการการเรียนรู้ Braincloud Platform ประกอบด้วยสองส่วนสำคัญกล่าวคือส่วนแรกซึ่งเป็นระบบการจัดการการเรียนรู้ผ่าน Cloud Computing ที่เรียกว่า Braincloud LMS ซึ่งได้มีการพัฒนาให้กระทรวงศึกษาสามารถจัดการและคัดกรองเนื้อหา รวมถึงออกแบบแผนการเรียนการสอนและบทเรียนสำหรับนักเรียนได้โดยตรง โดยการจัดการแผนการเรียนการสอนเนื้อหาและบทเรียนนั้น ได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกระทรวง ระดับโรงเรียนและระดับครูผู้สอน
ในการจัดการระดับกระทรวงนั้น Braincloud LMS สามารถช่วยให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ แก้ไข หรือลบเนื้อหาและบทเรียนได้โดยตรง โดยไม่ต้องให้โรงเรียนในโครงการจัดส่งคืนเครื่องแท็บเล็ตพีซีกลับมายังกระทรวงทุกครั้งที่จะดำเนินการบรรจุเนื้อหาและบทเรียนใหม่ เป็นการประหยัดเวลาและงบประมาณที่อาจ
เสียไปกับการขนส่ง นอกจากนี้ Braincloud LMS ยังมีระบบการประเมินและรายงานผลการใช้งานขั้นสูง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการใช้งานแท็บเล็ตพีซีและติดตามความคืบหน้าในการเรียนของนักเรียน
ขณะเดียวกัน ในระดับโรงเรียน Braincloud LMS ออกแบบให้โรงเรียนสามารถออกแบบบทเรียนหรือเนื้อหาการเรียนการสอนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงศึกษากำหนด รวมถึง ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและกิจกรรมของโรงเรียนผ่านทางแท็บเล็ตพีซีแต่ละเครื่อง
ส่วนการจัดการในระดับครูผู้สอน Braincloud LMS มีระบบการจัดการห้องเรียนอัจฉริยะ เช่น การควบคุมแท็บเล็ตด้วยจอ Controller Surface หรือด้วยคอมพิวเตอร์ในระหว่างการเรียนการสอน เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถควบคุมการใช้งานแท็บเล็ตพีซีของนักเรียนในชั้นเรียน สามารถทำการส่งไฟล์หรือเนื้อหาเข้าสู่เครื่องแท็บเล็ต พีซี ของนักเรียนแต่ละคนได้โดยตรง รวมทั้งล็อกหน้าจอนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนได้ ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสม หรือเล่นเกมส์ในระหว่างการเรียนได้
ในส่วนที่ 2 ของ Braincloud Platform นั้น คือการนำระบบ Braincloud Connect ซึ่ง ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการนำคุณภาพการศึกษาและทรัพยากรครูของโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐในกรุงเทพมหานครไปสู่โรงเรียนในต่างจังหวัด โดยการแบ่งปันทรัพยากรครู โดยเฉพาะครูที่เป็นเจ้าของภาษา จะทำให้นักเรียนในต่างจังหวัดได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นโดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่น้อยลง
Braincloud Connect เป็นระบบห้องเรียนทางไกลอัจฉริยะ 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบห้องเรียนสู่ห้องเรียน รูปแบบห้องเรียนสู่นักเรียน และ รูปแบบครูสู่นักเรียน นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการแบ่งปันทรัพยากรครูผู้สอนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนที่อยู่ต่างภูมิภาคหรือต่างโรงเรียนกันได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองความคิด และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก Braincloud Platform เป็นระบบ Cloud Computing ที่ต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตสำหรับการใช้งาน โดยเฉพาะการรับ-ส่งข้อมูลในรูปแบบวีดีโอผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลขั้นต่ำอยู่ที่ 5 Mbps แต่ในปัจจุบัน เครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วที่เหมาะสมสำหรับรองรับการใช้งานนั้น อาจยังไม่ได้มีการจัดสรรเข้าสู่ทุกโรงเรียนในประเทศไทย โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในเขตชนบท
ดังนั้น เพื่อรองรับการใช้งานระบบปฏิบัติการ Braincloud Solution ในระหว่างระยะเวลาการดำเนินโครงการ บริษัทจะพัฒนาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนในเขตชนบทจำนวน 3 แห่งที่เข้าร่วมโครงการทดลอง โดยติดตั้งอุปกรณ์ Braincloud Virtual Fiber ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยจะทำการเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้แก่โรงเรียนเป็นความเร็ว 30 Mbps ทั้งนี้อุปกรณ์ทำการรับส่งข้อมูลในความเร็วได้สูงสุดถึง 100 Mbps ทำให้โรงเรียนในเขตชนบทที่อยู่ภายในรัศมี 100 กิโลเมตรสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วเหมาะสมในการใช้งานระบบ Braincloud Solution ได้
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า “One Tablet PC per Child จะทำให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีไอซีที ลดความเหลื่อมล้ำในการยกระดับการศึกษา และช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการสู่ก้าวสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้วิธีเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไป สามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองเครื่องมือเหล่านี้
การเริ่มนำร่องใช้แพล็ตฟอร์ม Braincloud Solution มาช่วยจัดการการเรียนการสอน ทำให้การใช้งานแท็บเล็ตมีความยืดหยุ่นและใช้งานเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะการเรียนการสอนทางไกลที่ช่วยกระจายองค์ความรู้ไปสู่พื้นที่ชายขอบ ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีกำลังเร่งดำเนินการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่โรงเรียนทั้งหมด 31,334 แห่ง เพื่อรองรับการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตแบบออนไลน์ในปีการศึกษาหน้า”
นางฉวีวรรณ คลังแสง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ไอซีที และบริษัท โอเพ่นเฟซ เป็นเสมือนการติดอาวุธเพิ่มศักยภาพการใช้งานแท็บเล็ต และช่วยให้กระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการบรรจุเนื้อหาๆใหม่ผ่านระบบ Cloud
นอกจากนี้ ยังยืดหยุ่นในการออกแบบเนื้อหาการเรียนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดไว้ ช่วยให้แต่ละโรงเรียนดีไซน์หลักสูตรให้มีความเฉพาะเหมาะสมกับพื้นที่และ วัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองได้อีกด้วย”
เบื้องต้นจะมีโรงเรียนเข้าร่วมนำร่อง 6 โรงเรียน โดยโรงเรียนวัดเสถียรรัตนารามเป็นโรงเรียนแรกที่เข้ารับการทดลองการใช้งาน โดยโรงเรียน ทดลองใช้งานระบบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 ถึง เดือนมีนาคม 2556 และจะประเมินสรุปผลโครงการในเดือนเดือนเมษายน 2556