กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ชี้แจงผลการตรวจสอบไม่พบว่ามีการปั่นหุ้น SCIB-C1 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การเคลื่อนไหวของราคา SCIB-C1 เป็นไปตามปกติ
(ก) ถึงแม้ราคา SCIB-C1 จะผันผวนมาก โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2547 ลดลงจากราคาสูงสุดที่ 3.14 บาท เหลือต่ำสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2547 เพียง 0.94 บาท และภายหลังได้กลับขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม สูงสุด 2.98 บาท (คือ ลดลง 2.20 บาท และกลับสูงขึ้น 2.04 บาท) นั้น แต่ปัจจัยที่ทำให้ราคาของ SCIB-C1 เคลื่อนไหว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในราคาหุ้นแม่ SCIB เป็นสำคัญ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาของหุ้นแม่ SCIB ได้ลดต่ำลงจาก 23.10 บาท เหลือต่ำสุด 20.00 บาท ก่อนจะกลับขึ้นสูงสุด 21.50 บาท (คือ ลดลง 3.10 บาท และกลับสูงขึ้น 1.50 บาท)
(ข) ถึงแม้ราคาของ SCIB-C1 ที่เปลี่ยนแปลงเป็นการสะท้อนราคาของหุ้นแม่ก็ตาม แต่เนื่องจากราคาของหุ้นลูก SCIB-C1 นั้นต่ำมาก ดังนั้น ราคาที่เปลี่ยนแปลง เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อราคาหุ้นลูก SCIB-C1 จึงเป็นสัดส่วนที่สูง ทำให้ดูเสมือนราคา SCIB-C1 ผันผวนรุนแรง ดังนั้น การที่ราคาหุ้นลูกจะเคลื่อนไหวเป็นช่วงกว้างตามราคาหุ้นแม่เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้
2. ไม่พบผู้ใดขายหุ้น SCIB-C1 ในราคาสูงแล้วซื้อคืนภายหลัง
(ก) ผลการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ขายใหญ่สุด 30 รายแรกในวันที่ 10 และ 11 สิงหาคม 2547 ไม่พบว่ามีรายใดที่ขายด้านเดียวเพื่อมาซื้อคืนภายหลัง แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นแบบ net settlement ที่ซื้อและขายจำนวนเท่า ๆ กัน แต่ทำการซื้อขายเช่นนี้หลายครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 11 สิงหาคม 2547หลายรายซื้อขายกว่า 10 รอบ แม้คำสั่งซื้อขายมีปริมาณเป็นแสนหุ้น แต่ก็เป็นมูลค่าที่ไม่สูง จึงมีลักษณะเป็นการสั่งซื้อขายของผู้เล่นรายย่อย และจากการตรวจสอบบัญชีธนาคาร ข้อมูลประกอบการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ และอำนาจการสั่งซื้อขาย ก็ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกัน
(ข) ผลการตรวจสอบลักษณะของคำสั่งซื้อขายของ 30 รายแรกดังกล่าว ไม่พบพฤติกรรมในลักษณะสร้างราคา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการซื้อ ๆ ขาย ๆ แทบทุกระดับราคา และเนื่องจากยอดของ แต่ละรายคิดเป็นสัดส่วนต่อยอดซื้อขายรวมน้อยมาก ผลกระทบด้านราคาจึงมีลักษณะกระจายตัวไม่กระจุกอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ
3. ไม่พบผู้ใดขายหุ้นแม่ SCIB เพื่อมาซื้อหุ้นลูก SCIB-C1 ราคาต่ำในภายหลัง
(ก) กรณีมีข้อสงสัยว่า ผู้ปั่นราคาอาจใช้วิธีทุบหุ้นแม่ SCIB เพื่อมีผลกดราคาหุ้นลูก SCIB-C1 แล้วภายหลังค่อยซื้อหุ้นลูก SCIB-C1 ในราคาต่ำนั้น ผลการตรวจสอบพบว่า ในจำนวนผู้ที่ขาย
หุ้นแม่ SCIB ใหญ่สุด 30 รายแรกในวันที่ 10 และ 11 สิงหาคม 2547 ไม่มีผู้ใดที่เป็นผู้ซื้อหุ้นลูก SCIB-C1 รายใหญ่ในวันที่ 13 และ 16 สิงหาคม 2547
(ข) การที่ราคาหุ้นแม่ SCIB ลดต่ำมาก เกิดจากผู้ลงทุนสถาบันเป็นผู้ขายรายใหญ่ในวันที่ 10 และ 11 สิงหาคม 2547 ถึงร้อยละ 61 ของยอดขายรวม และส่งผลให้ราคาหุ้นลูก SCIB-C1 อ่อนลงตาม โดยในจำนวนร้อยละ 61 ดังกล่าวเป็นผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศถึงร้อยละ 51 ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ขอข้อมูลจากต่างประเทศเกี่ยวกับรายชื่อผู้ขายที่มีผลให้ราคาลดต่ำลงมาก ๆ แล้ว ผลการตรวจสอบก็ไม่พบข้อผิดปกติ จึงเป็นกรณีที่ผู้ลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศทำการปรับ portfolio ตามข่าวลือเกี่ยวกับธนาคารของรัฐ ดังเห็นได้ว่า มีการขายหุ้น KTB ด้วย และในจำนวนผู้ที่ขายหุ้น KTB ในวันที่ 10 และ 11 สิงหาคม 2547 ก็เป็นผู้ลงทุนสถาบันสูงถึงร้อยละ 37 ของยอดขายรวมเช่นกัน โดยเป็นผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศร้อยละ 12
เพื่อให้สาธารณชนมีความกระจ่างในข้อมูลต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ก.ล.ต. จึงได้จัดทำรายละเอียดผู้ซื้อขายรายใหญ่ 30 รายในหุ้น SCIB และ SCIB-C1 ในวันที่ 10 — 16 สิงหาคม 2547 เป็นเอกสาร 8 หน้า พร้อมกราฟเปรียบเทียบราคา โดยแสดงยอดซื้อขายเป็นรายบุคคลพร้อมช่วงราคา แต่ใช้รหัสแทนชื่อ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th)--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--