ฟิทช์ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AA-(tha)’ แก้หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารกรุงไทย

ข่าวทั่วไป Monday October 11, 2004 12:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารกรุงไทย (KTB) มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ด้อยสิทธินี้มีอายุ 10 ปี ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศคงอันดับของ KTB ดังต่อไปนี้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารระยะยาวที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพและระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ 2 อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหนี้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ และระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ ในขณะที่การที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่อาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ ถ้าพิจารณาแต่พื้นฐานของธนาคารเองโดยปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาล
ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานหลักของ KTB ได้ปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และในด้านการปรับโครงสร้างองค์กร ในขณะที่การแปรรูปธนาคารบางส่วนได้ลดระดับการถือหุ้นโดยรัฐบาล แต่การที่ทางรัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ KTB ยังคงต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการเป็นธนาคารผู้นำในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยปล่อยสินเชื่อในระบบมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร จากการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการดำเนินการทางด้านกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นรวมถึงการที่ให้ KTB จัดชั้นหนี้ใหม่ซึ่งส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีจุดประสงค์เพื่อการปรับปรุงการจัดการด้านความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อ ความรับผิดชอบในการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลของธนาคาร นอกจากนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาการแต่งตั้งใหม่ สำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ KTB ด้วย
ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2547 ของ KTB แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของระดับผลกำไร โดยผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 พันล้านบาท จาก 1.6 พันล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2546 เนื่องมาจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง รวมถึงกำไรพิเศษจากเงินปันผลของกองทุนวายุภักษ์และกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของสินเชื่อของ KTB ในระดับ 30 % ในปี 2545 และ 2546 และ 24% ในครึ่งแรกของปี 2547 (หลังจากปรับตัวเลขให้สะท้อนถึงอัตราการเติบโตทั้งปีแล้ว) ได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการที่คุณภาพของสินทรัพย์อาจถดถอยลงและการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคารในอนาคต
หลังจากปรับตัวเลขสินเชื่อของ KTB โดยไม่รวมตั๋วสัญญาใช้เงินจากรัฐบาล หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 15.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 จากระดับ 11.3% ณ สิ้นปี 2546 หรือเพิ่มขึ้น 45 พันล้านบาท (หรือ 1.1 พันล้านดอลล่าร์) สู่ระดับ 129.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ซึ่งเป็นผลมาจากเกณฑ์การจัดชั้นที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยที่ประมาณหนึ่งในสามของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้ที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคธุรกิจทั่วไป ในขณะที่การจัดชั้นสินเชื่อใหม่ยังไม่มีผลกระทบในทันทีต่อความสามารถในการทำกำไรของ KTB เนื่องจากเงินสำรองทั่วไปจำนวนประมาณ 7 พันล้านบาทได้ถูกโอนไปเป็นเงินสำรองสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับการกันสำรองหนี้สูญได้ลดลงมาเหลือเพียง 47.6 % จาก 70.8% ณ สิ้นปี 2546 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำและชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ทางธนาคารอาจต้องมีการกันสำรองเพิ่มเติม โดยหาก KTB จะเพิ่มระดับการกันสำรองหนี้สูญให้คงอยู่ในระดับเดิม (โดยที่ปัจจัยอื่นคงที่) การกันสำรองเพิ่มเติมมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าประมาณการกำไรก่อนหักสำรองในปี 2547 ของธนาคารและจะส่งผลให้เกิดขาดทุนสุทธิขึ้น
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ KTB อยู่ที่ 7.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่อัตราเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 8.7% ในขณะที่การฟื้นตัวของรายได้และผลกำไรน่าอาจมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของเงินกองทุน แต่การกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในจำนวนมากและการเติบโตของสินทรัพย์ที่สูงอาจสร้างแรงกดดันให้กับความเพียงพอของเงินกองทุนของ KTB ในปีหน้า
จากการที่ผลของเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ใหม่ทำให้ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB เพิ่มสูงขึ้นมากนั้น เป็นการเน้นถึงประเด็นความเป็นห่วงของฟิทช์ที่มีต่อบทบาทของ KTB ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ความอ่อนแอของคุณภาพสินทรัพย์ และการจัดการความเสี่ยงของ KTB อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของ KTB เนื่องจากผลกระทบ ณ ปัจจุบันจากปัจจัยเหล่านี้ต่อความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนของธนาคารยังไม่มีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารอาจจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนี้ อันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ยังสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เน้นว่าหากคุณภาพสินทรัพย์ของ KTB มีการถดถอยลงซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการกันสำรองหนี้สูญความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนของธนาคาร อาจมีผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินซึ่งวิเคราะห์ถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารโดยปราศจากแรงสนับสนุนจากรัฐบาล ในมุมมองของ ฟิทช์ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ KTB ใช้เกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นการพัฒนาในเชิงบวกสำหรับภาคธุรกิจธนาคารโดยเฉพาะถ้าพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อระบบการเงินจากการที่ธนาคารรัฐมีนโยบายปล่อยสินเชื่อในเชิงรุกใน 3 ปีที่ผ่านมา
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ส่วนอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Ratings) วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Ratings) วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหรือจากรัฐบาล ถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้แต่เป็นอันดับของความแข็งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคารและระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton,
กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall,
ฮ่องกง+852 2263 9963-จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ