ข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจเมียนมาร์ตื่นตัวการเปิดประเทศสู่ AEC ศศินทร์จัดสัมมนา “เมียนมาร์-ประเทศไทยกับโอกาสทางธุรกิจ”

ข่าวทั่วไป Monday December 3, 2012 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ศศินทร์ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ชาติอื่น ๆ ในอาเซียนก็เล็งเห็นโอกาสทางด้านธุรกิจ การศึกษา และการพัฒนาด้านอื่น ๆ เห็นได้จากคำกล่าวของนายอู เท ออง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในงานสัมมนาเรื่อง “เมียนมาร์-ประเทศไทยกับโอกาสทางธุรกิจ” ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ณ สถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมาร์ ในงานนี้นายอู เท ออง ในฐานะประธานเปิดงานสัมมนาได้กล่าวว่า นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ศศินทร์ให้ความสำคัญกับเมียนมาร์ และการมาเปิดตลาดทางด้านการศึกษาก็นับว่าเป็นความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเข้าร่วมงานสัมมนา “ศศินทร์ บางกอก ฟอรั่ม” ที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( Sasin) เปิดเผยว่า หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ศศินทร์เริ่มก่อตั้งและได้รับความร่วมมือจากสองมหาวิทยาลัยชื่อดัง ของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ 2530 ซึ่งช่วงเวลานั้นเรื่องการบริหารธุรกิจ และการเรียนระดับปริญญาโทเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจและการจัดการ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารธุรกิจ เช่นเดียวกับเมียนมาร์ในขณะนี้ที่มีความตื่นตัวทางด้านการศึกษาเพื่อให้มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน ซึ่งศศินทร์ต้องการมีส่วนร่วมในการให้ความรู้และพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจและการจัดการ ให้กับนักธุรกิจในเมียนมาร์ เพื่อให้มีความพร้อมในการเปิดประเทศและมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ หัวหน้าหลักสูตรปริญญาเอก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( Sasin) เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านธุรกิจในภูมิภาคนี้มากขึ้น เนื่องจากการลงทุนจะเคลื่อนย้ายจากโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออก ดังนั้นจึงต้องมีการตอบรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ จะต้องมีวิสัยทัศน์และมีความเป็นผู้นำ และที่สำคัญก็คือจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการซึ่งมีความสำคัญต่อนักธุรกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมกับยุคเปิดของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปเมียนมาร์ของโครงการศศินทร์สู่อาเซียน จากสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “เมียนมาร์ — ประเทศไทย กับโอกาสทางธุรกิจ” โดยมี ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ (Sasin) เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ผู้ร่วมสัมมนาได้แสดงวิสัยทัศน์ ดังนี้ นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้การติดต่อสื่อสารง่ายและเร็วขึ้น นับว่าเป็นการพัฒนาในเชิงบวก แต่ในขณะเดียวกันอาจจะทำให้เกิดผลในเชิงลบได้หากคนไม่เตรียมพร้อมที่จะรับรู้ข่าวสารอย่างผู้ชาญฉลาดและรู้เท่าทัน ดังนั้น ความรู้จึงเป็นเรื่องจำเป็นในยุคของการเปิดเสรีในอาเซียน ดร.หม่อง หม่อง ลาย รองประธานสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า เมียนมาร์อยู่ในยุคมืดมาเกือบ 50 ปี ตอนนี้พร้อมที่จะเปิดประเทศแล้ว และเชื่อว่าเมียนมาร์จะไม่มีโอกาสเดินถอยหลังกลับไปสู่ยุคเดิมๆ จากนี้ไปจะเป็นการเดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น เพื่อไปสู่โอกาสที่เป็นประโยชน์ต่อชาวเมียนมาร์ ดังนั้น ประชาชนชาวเมียนมาร์เองจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับโอกาสที่ดีเหล่านั้น และการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะการมีความรู้จะเป็นเครื่องมือที่พร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุคของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นางเสริมสุข ปัทมสถาน ที่ปรึกษาธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน และคณะกรรมการบริหารสมาคมไทย-เมียนมาร์ เพื่อมิตรภาพ กล่าวว่า ประชาชนชาวเมียนมาร์ต้องต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ เช่นจะต้องมีตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้นักลงทุนชาวเมียนมาร์ได้ลิ้มลองการลงทุน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะบริษัทที่คิดจะลงทุนซื้อหุ้น เพื่อจะได้รู้ลึกถึงฐานของบริษัทนั้น ๆ ว่ามีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน เหมาะสมกับการลงทุนอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้ดีคือความรู้ และเข้าใจรายงานการเงินของแต่ละบริษัทและควรรู้ถึงผลการดำเนินงานว่ากำไรหรือขาดทุน เพราะการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง การมีความรู้ด้านการลงทุนจะเป็นหนทางที่ทำให้ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ไม่ใช่เฉพาะชาวเมียนมาร์เท่านั้นแต่รวมถึงทุกๆคนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดร.รัตติมา มุกดาอนันต์ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการศศินทร์สู่อาเซียน ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ (Sasin Towards ASEAN @ Myanmar) เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวนอกจากเป็นการให้ความรู้กับข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ต่อประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ (Republic of the Union of Myanmar) เป็นประเทศแรก กิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกำหนดรูปแบบการสัมมนาในหัวข้อ “ASEAN Business Opportunities in the AEC Era” การสัมมนาได้รับความสนใจจากข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจชั้นนำเป็นอย่างดี ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นก้าวแรกในความร่วมมือระหว่างศศินทร์กับเครือข่ายของเมียนมาร์ ซึ่งจะนำไปสู่โครงการความร่วมมืออื่น ๆ ระหว่างกันต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ