กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สกว.
บ้านแหลม ต.วังวน จ.ตรัง ซึ่งมีหอยนางรมเป็นสินค้าขึ้นชื่อนั้น เด็ก ๆ ในท้องถิ่นกลับแทบไม่รู้จักทรัพยากรตัวนี้ ครูคนหนึ่งจึงใช้โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น สร้างหลักสูตร “เลี้ยงหอยนางรม” สำหรับเด็กประถมปลาย ที่สามารถเปลี่ยนเสี่ยงต่อต้านของพ่อแม่ มาเป็นการสนับสนุนอย่างเต็มใจ
(ดาวน์โหลดภาพประกอบและบทความที่ http://pr.trf.or.th/news/index.asp)
“หอยนางรม” จัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นที่นิยมบริโภคของคนไทยมาช้านาน และกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านในหลายจังหวัด
บ้านแหลม อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีหอยนางรมอาศัยอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งหอยนางรมที่สำคัญจนถึงกับได้รับการประกาศเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชุมชน
แต่ขณะนี้แม้ว่าหอยนางรมดูจะมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแห่งนี้ เด็ก ๆ ที่เกิดและเติบโตที่นี่ กลับแทบจะไม่รู้จักเกี่ยวกับหอยชนิดนี้เลย
นางถวิล ช่อเจี้ยง ครูประจำชั้น ป.6 ของโรงเรียนบ้านแหลม ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน 147 คน กล่าวว่า จากการได้เข้าไปประชุมร่วมกับชาวบ้านหลาย ๆ ครั้งทำให้ทราบว่าหอยนางรมเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับชุมชนแห่งนี้ปีหนึ่งไม่ใช่น้อย อีกทั้งคนในชุมชนต่างเห็นความสำคัญของการรักษาทรัพยากรนี้ไว้ ถึงกับกำหนดพื้นที่อนุรักษ์หอยนางรมขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่เมื่อตนเองได้คุยกับเด็ก ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับหอยนางรม กลับพบว่า สำหรับพวกเขาแล้ว หอยนางรมคือสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่พ่อแม่ของเขาจับขึ้นมาขายเท่านั้น
“หากเราสามารถทำให้เด็กๆ รู้จักสัตว์ที่เป็นปากท้องของชุมชนของเขาอย่างลึกซึ้งในหลายมิติ หลายแง่มุม ก็น่าจะเป็นอุบายให้เขารู้จักชุมชนของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งในช่วงนั้น (พ.ศ.2542) มีการกำหนดให้โรงเรียนแต่ละแห่งพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของตนเอง จึงเป็นที่มาของการตั้งฟาร์มเลี้ยงหอยนางรมขึ้นมาในโรงเรียนที่ให้เด็ก ๆ เป็นคนเลี้ยง
ตลอด 2 ปีแรกของการตั้งฟาร์มเลี้ยงหอยในโรงเรียน แม้จะได้รับผลตอบรับจากเด็ก ๆ ค่อนข้างดี ทั้งเด็กโต (ป.4-ป.6) ที่ต้องเป็นผู้เลี้ยง และเด็กเล็กที่ครูอาจจะพามาดู หรือมาวาดรูป แต่กลับพบการต่อต้านจากผู้ปกครองบางคน
“เขาไม่เข้าใจว่าทำไมครูให้ลูกเขาไปเลี้ยงหอย ไม่ให้ลูกเขามาเรียนหนังสือ บางคนถึงขนาดจะเอาลูกออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น เราก็แก้ปัญหาด้วยการเข้าไปหาชุมชน ไปอธิบายว่าการเรียนรู้ที่ให้เด็กรู้จักชุมชนของตนเอง เป็นการศึกษาที่จะช่วยให้เด็กเกิดความผูกพันกับชุมชนได้อย่างไร รวมถึงเราก็พยายามนำเด็ก ๆ ออกไปหาชุมชนไปพบกับผู้เฒ่าหรือคนสำคัญ ๆ ในพื้นที่ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่มากขึ้น”
สิ่งปัญหาที่นางถวิลพบ หลังจากได้ “ไฟเขียว” จากพ่อแม่ของเด็ก ๆ แล้ว ก็คือ การจะสืบค้นและเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “หอยนางรม” มาบูรณาการเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็กตั้งแต่ ป.4 ถึง ป.6 ให้ได้รู้ทั้ง “ทักษะการเลี้ยง” “วงจรชีวิต” รวมถึง “ระบบนิเวศน์ของชายฝั่ง” นั้น จะทำได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ นางถวิล จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการสนับสนุนให้ครูเป็นผู้สามารถสร้างและพัฒนาชุดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ของตนขึ้นมาได้ด้วยตนเอง โดยผ่านกระบวนการสืบค้นและแสวงหาข้อมูล พร้อมทั้งทำความเข้าใจในเรื่องราวนั้น ๆ ก่อนจะนำมาทำเป็นบทเรียน โดยต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆ สามารถเข้าใจได้เป็นฐานรองรับ พร้อมทั้งสร้างกิจกรรมหรือการทดลองที่จะให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ในรายวิชานั้น ๆ
รศ. สุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. กล่าวว่า”การใช้ประเด็นในชุมชนของแต่ละโรงเรียนมาเป็นแกนในการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น คืออุบายสำคัญในการทำให้เด็ก ๆ เกิดความสนใจและอยากรู้
“หัวใจของการให้เรียนรู้คือการสัมผัส โครงการนี้จะทำให้ครูและเด็ก ๆ ได้สัมผัสกับ “ของจริง” ที่อยู่กับชีวิตของเขา ซึ่งการใช้ประเด็นท้องถิ่นมาเล่น ทำให้ครูและเด็ก ๆ พบว่า วิทยาศาสตร์มิใช่เรื่องไกลตัว เราสามารถเรียนวิทยาศาสตร์ให้สนุกไปพร้อม ๆ กับเรียนเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย”
นางถวิล กล่าวว่า การได้มาเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น นอกจากสามารถนำไปใช้พัฒนาการสอนรวมถึงการศึกษาต่อของตนเองจนสำเร็จระดับปริญญาโทแล้ว สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือการยอมรับของคนในชุมชน
“ขณะที่ทางโรงเรียนก็ได้รับคำชมจากโรงเรียนมัธยมว่า เด็กของเรานั้นเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเขา และมีผู้ปกครองหลายคนในชุมชน ได้พาลูกกลับมาเรียนที่โรงเรียนประถมเล็ก ๆ ที่มีนักเรียนเพียง 147 คนแห่งนี้ ที่สำคัญเสียงคัดค้านกลับกลายเป็นการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น ตอนปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงหอยนั้น มีผู้ปกครองกว่า 20 คนมาอาสาช่วยทำให้ฟรี ๆ บางคนก็ช่วยเรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ เพราะเขาถือว่าสิ่งนี้เป็นของลูกเขา เป็นของชุมชนเขา ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและคุณครูกับชุมชนได้เป็นอย่างดี”
รศ. สุชาตา สรุปว่า ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 และมีกว่า 50 โครงการทั่วประเทศนั้น เป็นรูปธรรมที่ดีของ “ครู” ที่เป็น “ผู้สร้าง” อย่างแท้จริง เพราะเขาเหล่านี้สามารถบูรณาการ ระหว่างหลักสูตรจากส่วนกลางกับความเป็นจริงที่อยู่รอบตัวเด็กได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทั้งครูและชุดการเรียนรู้กว่า 50 เรื่องนี้จะเป็นต้นแบบที่จะนำไปสู่การสร้างครูและชุดการเรียนรู้อีกหลายร้อยหลายพันเรื่องราวในอนาคต
ดังนั้นเพื่อที่จะถ่ายทอดแนวคิด และประสบการณ์ในการสร้างหลักสูตรโดยตัวครูต้นแบบจากโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งครูอาจารย์ นักวิชาการ และผู้บริหารการศึกษา ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคมนี้ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ จะมีการจัดงาน “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น…เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง” ที่จะนำเสนอผลงานของครูต้นแบบทั่วประเทศกว่า 20 เรื่อง ในรูปแบบที่หลากหลายและน่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างครูที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา” และการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ดาวน์โหลดภาพประกอบและบทความที่ http://pr.trf.or.th/news/index.asp หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว.--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--