ก.ล.ต. เสริมความรู้บุคลากรในตลาดทุนเตรียมรับเทคโนโลยีใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 4, 2012 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. เตรียมความพร้อมรับวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบใหม่ จัดอบรมพนักงานและบุคลากรในตลาดทุน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน และสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยพัฒนาทัดเทียมสากล นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรในตลาดทุนและพนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานให้สูงขึ้น สอดคล้องกับพัฒนาการทางการเงินและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงได้เชิญผู้แทนจาก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้แก่ นายดาเนียล เอ็ม เกรย์ที่ปรึกษาพิเศษอาวุโสด้านโครงสร้างตลาด ฝ่ายกำกับตลาด และนายโทมัส เมสเตอร์ ผู้ตรวจสอบพิเศษอาวุโส สำนักกำกับดูแลและตรวจสอบ มาบรรยายให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลการใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับส่งคำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ (automated programmatic trading)ซึ่งรวมถึงการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง (High Frequency Program Trading: HFT) แก่พนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทหลักทรัพย์ รวมกว่า 200 คน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลการใช้ชุดคำสั่งดังกล่าวภายใต้ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุนไทย ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลกที่อนุญาตให้มีการใช้ automated programmatic trading โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HFT ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้เริ่มนำมาให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนมีการเชื่อมโยงระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกัน ทำให้การส่งคำสั่งซื้อขายโดยใช้ automated programmatic trading ในประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มแพร่หลายและพัฒนาไปเป็นระบบที่มีความถี่สูงในที่สุด “ก.ล.ต. เล็งเห็นว่าการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของบุคลากรในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันกับพัฒนาการ สภาพสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยในปัจจุบันยังไม่ได้นำ automated programmatic tradingที่มีความซับซ้อนมาใช้ แต่จากพัฒนาการและบทเรียนของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ automated programmatic trading รวมถึงกฎระเบียบและมาตรการในการกำกับดูแลของประเทศที่มีความชำนาญและประสบการณ์ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อตลาดหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ และผู้ลงทุน จากการส่งคำสั่งซื้อขายดังกล่าวซึ่งจะทำให้ตลาดทุนไทยสามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคงและทัดเทียมกับสากลยิ่งขึ้น” นายวรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ